แคทลีน โฟลบิกก์: โดนจำคุกโดยไม่ผิด 20 ปี ส่วนหนึ่งเพราะ “ทัศนคติเกลียดผู้หญิง”

แคทลีน โฟลบิกก์ ถูกเรียกในหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “นักฆ่าทารก” “ปีศาจ” และ “แม่ที่เลวร้ายที่สุดในออสเตรเลีย” แต่วิทยาศาสตร์กลับชี้ว่า เธอคือผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกตัดสินจำคุกนาน 20 ปี จาก “ทัศนคติเกลียดชังผู้หญิง”

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 มิ.ย. 2023) เธอเปิดใจเป็นครั้งแรก หลังได้รับอิสรภาพจากการถูกจำคุกนานกว่า 20 ปี ว่า เธอ “ซาบซึ้งใจมาก” ที่ได้รับการอภัยโทษ จากความผิดฐานฆาตกรรมลูก ๆ 4 คนของเธอเอง

ทนายความของเธอ ระบุว่า การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย ที่ให้อภัยโทษนางโฟลบิกก์ เกิดขึ้นหลังเกิดความผิดพลาดครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมออสเตรเลีย และเน้นย้ำถึงการตัดสินคดี ที่อ้างอิงด้วยหลักฐานที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า “ไม่น่าเชื่อถือและเต็มไปด้วยทัศนคติเกลียดผู้หญิง” เมื่อปี 2003

นี่เป็นคดีที่ถูกสื่อมวลชนให้ความสนใจอย่างมาก และตัวสามีของนางโฟลบิกก์เอง ก็ขึ้นให้การเพื่อเอาผิดเธอ ระหว่างการพิจารณาคดีด้วย

แต่กลับกลายเป็นเหล่าเพื่อนฝูงและการค้นพบจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลหลายคน ที่พยายามรณรงค์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จนทำให้นางโฟลบิกก์กลายเป็นอิสระ

“ได้หลับเต็มตาครั้งแรกในรอบ 20 ปี”

ในวิดีโอแถลงการณ์แรกหลังได้รับการปล่อยตัว นางโฟลบิกก์ระบุว่า รู้สึก “ขอบคุณ” ที่ได้รับอภัยโทษ แต่เธอจะ “เศร้าเสียใจ… และคิดถึง” ลูก ๆ ทั้ง 4 ของเธอต่อไป

ค่ำคืนแรกนอกเรือนจำของเธอ นางโฟลบิกก์ทานพิซซากับเพื่อนเก่าแก่ของเธอ เทรซี แชปแมน ซึ่งเป็นผู้นำการรณรงค์เพื่อปลดปล่อยนางโฟลบิกก์

“เธอได้นอนบนเตียงจริง ๆ เธอบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้หลับเต็มตาในรอบ 20 ปี” นางแชปแมน บอกกับผู้สื่อข่าวในภายหลัง

โทษของนางโฟลบิกก์ได้รับการอุทธรณ์และลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี แต่เธอพ่ายแพ้ในการยื่นอุทธรณ์มาหลายครั้ง รวมถึงการพิจารณาคดีเมื่อปี 2019 ที่การพิจารณาของศาลยิ่งเพิ่มน้ำหนักต่อหลักฐานแวดล้อมที่ใช้ในการตัดสินคดีเธอตั้งแต่ต้น

ต่อมา ทอม แบเธิร์สต์ ผู้พิพากษาที่เกษียณแล้ว ได้ขึ้นบัลลังก์พิจารณาดคีของนางโฟลบิกก์อีกครั้ง โดยตัดสินว่า มีข้อสงสัยที่สมเหตุสมผลถึงการตัดสินความผิดนางโฟลบิกก์ จากหลักฐานใหม่ทางวิทยาศาสตร์ว่า ลูก ๆ ของเธออาจเสียชีวิตด้วยสาเหตุทางธรรมชาติ จากการกลายพันธุ์ในระดับยีนที่พบได้ยาก

ส่วนแรงกระเพื่อมจากคดีนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การอภัยโทษนางโฟลบิกก์ได้สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของออสเตรเลียเชื่องช้าต่อการค้นพบทางวิทยาศาสตร์แค่ไหน

“คำถามที่ต้องถามในตอนนี้ คือ เราจะสร้างระบบที่วิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนและได้รับการค้นพบใหม่ จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็วมากขึ้นได้อย่างไร” สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

EPA

EPA ลูกของนางโฟลบิกก์ ลอรา (ซ้าย) และแพทริก (ขวา)

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาสู่การอภัยโทษนางโฟลบิกก์ ริเริ่มโดย ศาสตราจารย์คาโรลา วีนเวซา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภูมิคุ้มกันและจีโนมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ค้นพบครั้งแรกในปี 2019 ว่าเด็กหญิงทั้งสองคนมียีนกลายพันธุ์ที่เรียกว่า CALM2 G114R

การกลายพันธุ์ของยีน CALM2 G114R ปรากฏในตัวนางโฟลบิกก์ด้วย และงานวิจัยชี้ว่า นี่เป็นการกลายพันธุ์ที่พบได้ 1 ใน 35 ล้านคน และ “อาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้”

ทีมวิจัยของ ศ.วีนเวซา ยังพบด้วยว่า ลูกของเธอที่ชื่อเคเลบและแพทริก มีการกลายพันธุ์ในยีนที่แตกต่างกัน และเชื่อมโยงกับโรคลมชักเฉียบพลันในหนู

การค้นพบเหล่านี้เพิ่มน้ำหนักว่า เด็ก ๆ เสียชีวิตด้วยสาเหตุทางธรรมชาติ และพิสูจน์ว่าโอกาสที่เด็ก ๆ จะเสียชีวิตจากอาการผิดปกติทางหัวใจในทารก มีโอกาสสูงมาก

ย้อนคดีความต่อนางโฟลบิกก์

นางโฟลบิกก์ ยืนกรานความบริสุทธิ์ของตนเองมาโดยตลอด ชีวิตของเธอถูกความบอบช้ำหลอกหลอนมาโดยตลอด

ก่อนจะฉลองวันเกิดปีที่สอง บิดาของเธอที่มีประวัติการทำร้ายร่างกายคนในครอบครัวมายาวนาน ได้แทงมารดาของเธอจนเสียชีวิต ปีต่อจากนั้น เธอเวียนไปอาศัยระหว่างบ้านของญาติ ๆ ก่อนที่คู่รักในเมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย จะมาอุปการะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบิดาและมารดาของนางโฟลบิกก์ เป็นสิ่งที่อัยการใช้ในการพิจารณาคดีนางโฟลบิกก์ว่าเธอมีแนวโน้มต่อการใช้ความรุนแรง

ในปี 2003 ศาลตัดสินจำคุกนางโฟลบิกก์ 40 ปี ฐานฆาตกรรมลูก ๆ ได้แก่ ซาราห์ แพทริก และลอรา รวมถึงฆาตกรรมโดยไม่เจตนาบุตรชายคนแรกที่ชื่อ เคเลบ ด้วย

เด็ก ๆ ทั้ง 4 คน เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันระหว่างปี 1989-1999 อายุระหว่าง 19 วัน ถึง 18 เดือน อัยการกล่าวว่า เธอจงใจทำให้ลูกน้อยเหล่านี้ขาดอากาศหายใจจนตาย

เคเลบ ลูกชายคนแรก มีภาวะกระดูกอ่อนกล่องเสียงอ่อนยวบ (laryngomalacia) แบบไม่ร้ายแรง เป็นภาวะที่มีการอ่อนตัวของเนื้อเยื่อ บริเวณเหนือกล่องเสียงในขณะหายใจเข้า ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารก โดยเฉพาะ 2-3 สัปดาห์หลังคลอด โดยเคเลบเสียชีวิตระหว่างนอนหลับในปี 1989

แพทริก ลูกชายคนที่สอง ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการตามัวจากความผิดปกติของสมองและโรคลมบ้าหมู เขาเสียชีวิตจากอาการลมชัก ส่วนลูกสาวอีกสองคน คือ ซาราห์ และลอรา ซึ่งทั้งคู่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ เสียชีวิตตั้งแต่ยังแบเบาะ

การเสียชีวิตของบุตรสาว คือ ลอรา ในเดือน ก.พ. 1999 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตำรวจเข้าสอบสวนนางโฟลบิกก์

“ลูกของฉันไม่หายใจ” เธอบอกกับเจ้าหน้าที่รถพยาบาลในตอนนั้น จากบ้านในเมืองซิงเกิลตัน

“ฉันเจอโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome) มา 3 ครั้งแล้ว” นางโฟลบิกก์กล่าวต่อ ซึ่งเทปบันทึกเสียงนี้ของเธอ ถูกเปิดในชั้นศาลระหว่างการพิจารณาคดีด้วย

การเสียชีวิตของลอรา หมายความว่านางโฟลบิกก์และสามีของเธอ คือ เครก โฟลบิกก์ ได้เสียลูกทั้ง 3 คนไป

ในขณะที่นายเครก โฟลบิกก์กำลังถูกสอบปากคำในขั้นต้นและถูกจับกุม ต่อมาไม่นาน เขาเป็นคนช่วยตำรวจทำสำนวนคดีเพื่อเอาผิดภรรยาตัวเอง ด้วยการมอบบันทึกส่วนตัว หรือไดอารีของภรรยาแก่ตำรวจ รวมถึงขึ้นให้การในศาลเพื่อเอาผิดนางโฟลบิกก์ด้วย

ในการไต่สวนเมื่อปี 2019 เขาปฏิเสธจะมอบตัวอย่างดีเอ็นเอ ตามที่ทนายของนางโฟลบิกก์ร้องขอ ขณะที่ทนายของนายโฟลบิกก์ระบุว่า เขายังเชื่อมั่นว่า ภรรยาของเขากระทำผิดมาจนถึงบัดนั้น

กฎของมีโดว์ มีบทบาทอย่างไร

ข้อกล่าวหาของฝ่ายอัยการในการพิจารณาคดีปี 2003 คือ ความเป็นไปไม่ได้ในทางสถิติ ที่ลูก ๆ ของนางโฟลบิกก์จะเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ โดยยึดตาม “กฎของมีโดว์” (Meadow’s Law) ซึ่งเป็นหลักการทางกฎหมายว่า “การเสียชีวิตของทารกหนึ่งคน เป็นโศกนาฏกรรม ถ้าเสียชีวิตสองคนถือว่าน่าสงสัย และสามคน ถือว่าเป็นการฆาตกรรม ยกเว้นพิสูจน์ได้เป็นอื่น”

หลักการนี้ ถูกตั้งชื่อตาม รอย มีโดว์ นักกุมารแพทย์ที่ครั้งหนึ่งถือว่าโดดเด่นที่สุดของสหราชอาณาจักร แต่ชื่อเสียงของเขาลดทอนลงอย่างรวดเร็ว หลังการตัดสินคดีความที่ผิดพลาด จากการยึดโยงกับทฤษฎีของเขา

ในปี 2005 ชื่อของเขาถูกถอดออกจากทะเบียนแพทย์ จากการให้หลักฐานที่ทำให้เข้าใจผิดในคดีของแซลลี คลาร์ก ทนายความที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกฐานฆาตกรรมทารกชายทั้งสองของเธอในปี 1999

คดีความของนางคลาร์ก ถูกเพิกถอนในปี 2003 แต่ญาติของเธอระบุว่า เธอไม่สามารถฟื้นฟูจิตใจจากสิ่งที่เธอต้องเผชิญได้เลย และเสียชีวิตจากพิษแอลกอฮอล์ในปี 2007

เอ็นมา คุนลิฟฟ์ ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริติชโคลอมเบีย ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับคดีของนางโฟลบิกก์ ระบุว่า รากฐานของกฎของมีโดว์ “ถูกท้าทายโดยงานวิจัยทางการแพทย์” และ “ขัดแย้งกับหลักการที่รัฐมีภาระความรับผิดชอบที่จะต้องพิสูจน์ความผิดอย่างปราศจากข้อสงสัย”

“ในประเทศเครือจักรภพ การตั้งข้อหามารดาบนพื้นฐานของข้อสงสัยถึงรูปแบบการเสียชีวิตของทารกในครอบครัว ได้สิ้นสุดไปแล้วไม่มากก็น้อยภายหลังปี 2004” ศ.คุนลิฟฟ์ อธิบาย

“การตัดสินคดีผิดในกรณีนางคลาร์ก เป็นกระสุนชุดแรกที่สาดใส่กฎของมีโดว์ แต่เป็นกรณีคดีของแองเจลา แคนนิงส์ ในปี 2004 ในศาลอุทธรณ์อังกฤษ ที่ระบุว่า ‘ไม่มีพื้นที่สำหรับการใช้เหตุผลเช่นนี้ (การอ้างถึงกฎแห่งมีโดว์) ในศาลของเรา’”

ดังนั้น “มันจึงควรถูกถอดออกจากหลักการใช้เหตุและผลทางกฎหมายไปอย่างสิ้นเชิง แต่มันกลับใช้เวลานานกว่าจะเกิดขึ้นในออสเตรเลีย”

เรื่อง “กฎของมีโดว์” ไม่ได้เป็นเพียงช่องโหว่เดียวในคดีของนางโฟลบิกก์ เพราะอันที่จริง หลักฐานที่อัยการสั่งฟ้องเธอล้วนเป็นหลักฐานแวดล้อมทั้งหมด โดยอ้างอิงจากไดอารีของนางโฟลบิกก์ ซึ่งไม่เคยถูกนำมาให้นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ พิจารณาระหว่างการไต่สวนคดีเลย ทำให้กลายเป็นว่า เนื้อหาในไดอารีวาดภาพเธอเป็นคุณแม่ที่มีจิตไม่มั่นคง และสุ่มเสี่ยงจะมีความโกรธเคือง

บันทึกช่วงหนึ่ง เขียนลงไดอารีในปี 1997 หรือหลังการคลอดลอรา นางโฟลบิกก์เขียนว่า “วันหนึ่ง [เธอ] จะจากไป ลูก ๆ คนอื่นจากไปแล้ว แต่เด็กคนนี้จะไม่ไปในแบบเดียวกัน ครั้งนี้ ฉันเตรียมมาพร้อมและรู้ว่าควรจะระวังสัญญาณแบบไหน”

ถ้อยคำนี้ และความเห็นคล้าย ๆ กันในไดอารี ถือเป็นการยอมรับผิด แต่ในการไต่สวนคดีเมื่อปี 2022 ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและจิตเวช ปฏิเสธการวาดภาพนางโฟลบิกก์เช่นนี้

“เรื่องเกี่ยวกับการลงไดอารีส่วนตัว หลักฐานชี้ว่า นี่เป็นการเขียนบันทึกของ… แม่ที่ซึมเศร้า โทษตัวเองถึงการเสียชีวิตของลูกแต่ละคน ห่างไกลจากการยอมรับผิดว่าเธอฆาตกรรม หรือทำร้ายเด็ก ๆ” อัยการสูงสุดรัฐนิวเซาท์เวลส์ ไมเคิล ดาลีย์ ระบุระหว่างการประกาศอภัยโทษนางโฟลบิกก์ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2023

ด้านศาสตราจารย์ คุนลิฟฟ์ โต้แย้งว่า แก่นของการตัดสินคดีนางโฟลบิกก์เมื่อปี 2003 ยึดโยงกับ “ทัศนคติเกลียดผู้หญิงแบบเดิม ๆ” และ “เคลือบด้วยการเหมารวมผู้หญิงแบบเบาบาง”

ศ.คุนลิฟฟ์ ยังเสริมว่า ฝ่ายอัยการใช้ “การใช้หลักเหตุผลที่แบ่งแยกทางเพศ” เพื่อวาดภาพนางโฟลบิกก์ ในฐานะบุคคลที่ไม่สมควรเป็นแม่ เพื่อสร้างภาพว่าเธอเป็นฆาตกรรม

“ฝ่ายอัยการชี้ไปยังข้อเท็จจริงว่า เธอทิ้งให้ซาราห์อยู่กับสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ทุกเช้าวันเสาร์ เพื่อไปทำงานพาร์ทไทม์ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ในฐานะหลักฐานว่า เธอไม่รักซาราห์ ไม่เป็นห่วงเธอ ดังนั้น เธอจึงตั้งใจฆาตกรรมซาราห์” เธอกล่าว

แม้นางโฟลบิกก์จะได้รับการอภัยโทษ แต่เธอยังมีความผิดติดตัว นั่นหมายความว่า หนทางยังอีกยาวไกล หากเธอต้องการให้ศาลยกเลิกข้อกล่าวหา และฟ้องเรียกร้องเงินชดเชย

กระบวนการแรก คือ การที่ผู้พิพากษา ทอม แบเธิร์สต์ ส่งรายงานสำนวนคดีฉบับเต็ม ก่อนจะส่งคดีความต่อไปยังศาลอุทธรณ์แห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่จะมีอำนาจตัดสินว่าจะยกเลิกคดีนางโฟลบิกก์หรือไม่

“มันไม่มีกระบวนการในออสเตรเลีย ที่จะประเมินเงินชดเชยกรณีการตัดสินผิดพลาดโดยอัตโนมัติ” ศาสตราจารย์ คุนลิฟฟ์ กล่าว

“แคทลีน ต้องพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ เพื่อพิสูจน์ว่าเธอสมควรได้รับเงินชดเชย”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว