เงินเฟ้อ : จับตาแบงค์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ ตามกระแสธนาคารกลางทั่วโลก

ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเตรียมประชุมใหญ่วันที่ 10 ส.ค. นี้ คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกือบ 7.7% แต่ถือว่ายังล่าช้า ฝืนกระแสโลก ที่ธนาคารกลางหลายสิบประเทศได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันแล้ว บางประเทศขึ้นแล้วหลายระลอก

ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หลายสิบประเทศทั่วโลกได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ หรือเฟด ธนาคารกลางอังกฤษ และอินเดีย ผลักให้ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งสูงขึ้น เป็นมาตรการเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มต่อเนื่อง จาก 8.6% ในเดือน พ.ค. เป็น 9.1% ในเดือน มิ.ย. ถือว่าสูงสุดนับแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

เมื่อเดือน มิ.ย. ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในคราวเดียวในรอบ 28 ปี นับแต่ปี 1994 แต่จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังทะยานขึ้น ทำให้เฟดส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 27-28 ก.ค.

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เทียบกับเงินเฟ้อ. . .

ในขณะนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยแทบจะกลายเป็นอาวุธเดียวเพื่อหวังคุมเงินเฟ้อ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวดังต่อไปนี้

  • ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 1% เป็น 2.5% เมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) ถือว่าเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่ปี 2541 และส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกทั้งที่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าสูงที่สุดนับแต่ปี 2551
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็น 3.25%
  • ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% สู่ระดับ 2.5% เมื่อวันที่ 13 ก.ค.

แบงค์ชาติไทยว่าอย่างไร

ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 7.66% และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอีก ไทยนั้นถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมาก และปรับอัตราดอกเบี้ยช้าที่สุด โดยยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเลยในปีนี้ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. กำหนดให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%

ของแพงไปหมดในเวลานี้

ที่มาของภาพ, Reuters

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ ได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าเตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่จะปรับขึ้นอย่างช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจไทยที่อยู่ช่วงต้นของการฟื้นตัวจากโควิด-19

เคเคเค รีเสิร์ช โดจเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า จากกระแสขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และความล่าช้าของนโยบายการเงินไทย บวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนลงต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศไทยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เป็น 1% ในการประชุม กนง. ที่จะมีขึ้นวันที่ 10 ส.ค.

ด้านศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) ที่จัดทำรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน หรือ IMD World Competitiveness Ranking มองว่า มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ “เป็นมาตรการเดียวที่ทำได้ในตอนนี้ ไม่ใช่แค่ไทย แต่ทั่วโลก”

.

ที่มาของภาพ, Reuters

แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากเรื่องข้าวของแพง คือ การอัดฉีดเงินสนับสนุน “ช่วยเหลือคนที่อยู่ฐานรากของพีระมิด คนที่ได้รับผลกระทบที่สุด คนที่จ่ายค่าผ่อนบ้านไม่ได้ ไม่มีเงินค่าข้าว เราต้องสนับสนุนพวกเขา”

เงินที่จะช่วยคนฐานรากเหล่านี้ ก็มาจากการดำเนินนโยบายภาษี ที่เรียกเก็บภาษีแบบขั้นบันได ผู้มีรายได้สูงและคนร่ำรวย ควรจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น

ที่มาวิกฤตเงินเฟ้อไทย

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ว่า ข้าวของที่แพงขึ้นส่วนใหญ่ในไทยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานของโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

เธออธิบายว่าจริงอยู่ที่สาเหตุหลักเป็นเพราะสงครามในยูเครน ทว่าเทรนด์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้ว เพราะเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกโดยเพาะในฝั่งสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปฟื้นตัวอย่างชัดเจนมาก ทำให้สินค้าหลายประเภทผลิตออกมาไม่เพียงพอความต้องการ

ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตในหลายอุตสาหกรรมยังปรับตัวไม่ทันและจำนวนพนักงานไม่เพียงพอให้การผลิตสินค้าจนนำไปสู่ภาวะคอขวดในหลายธุรกิจ

เมื่อผสานรวมทั้งสองประเด็นเข้าด้วยกัน เทรนด์ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจึงเห็นได้ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แล้ว

ปรับขึ้นดอกเบี้ยเกี่ยวกับเงินเฟ้อยังไง

ธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายถึง “การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ว่า

ถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง หากเราเป็นผู้กู้เงิน ดอกเบี้ยที่จะจ่ายจะลดลง แห่หากเป็นผู้ฝากเงินก็จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลง แต่แนวโน้มจะกู้เงินเพิ่มขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกลง ขณะที่เมื่อแนวโน้มฝากเงินน้อยลง คนก็จะนำเงินไปใช้จ่ายหรือลงทุนมากขึ้น

.

ที่มาของภาพ, Reuters

แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น คนจะใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่อไป ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้น ถ้าต้องการคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะผลักดันให้คนใช้จ่ายน้อยลง ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ ก็มีแนวโน้มจะลดลง

ดร.กิริฎา มองว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ เป็นแนวคิดเดียวกับธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ เฟด เพราะมองว่าหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการจูงใจให้ประชาชนนำเงินมาฝากเพื่อกินดอกเบี้ย แทนการใช้จ่าย

“ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดดีมานด์ ถ้าดอกเบี้ยสูง เราเอาเงินไปฝากแบงก์ดีกว่า”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว