รัฐประหารเมียนมา : นานาชาติประณามเมียนมากรณีสั่งประหารนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

 

นายก่อ จิมมี นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง (ซ้าย) นายเพียว เซยาร์ ตอ อดีตสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)

ผู้นำนานาชาติร่วมประณามการสั่งประหารนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 รายว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย และล้าหลัง พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกการสั่งประหารดังกล่าวของว่าเป็น “ก้าวย่างที่โหดร้ายและล้าหลัง” ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง พร้อมกับเรียกร้องทางการเมียนมาอีกครั้งในการปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมทั้ง นางอองซาน ซูจี

ขณะที่สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมประณามการสั่งประหารครั้งนี้ของรัฐบาลเมียนมาว่า เป็นการกระทำรุนแรงที่เลวทราม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเมียนมาไม่ได้แยแสต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาแสวงหาทางออกที่เหมาะสม

เชียร่า แซนจอร์จิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทษประหารชีวิตชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำสั่งประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองถือเป็นการถอยหลังครั้งยิ่งใหญ่ ที่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ควรจะไปถึงจุดนั้น

Phyo Zeya Thaw and Aung San Suu Kyi

ที่มาของภาพ, BBC Burmese

ปฏิกิริยาดังกล่าวของนานาชาติมีขึ้นหลังจากวานนี้ (25 ก.ค.) นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 รายถูกรัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิต ซึ่งเชื่อได้ว่านี่เป็นการใช้บทลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกของเมียนมานับตั้งแต่ปี 1988 ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ การประหารชีวิตในอดีตของเมียนมากระทำโดยการแขวนคอ

รายชื่อที่ถูกสั่งประหารชีวิตประกอบด้วย นายเพียว เซยาร์ ตอ อดีตสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) นายก่อ จิมมี นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นายฮลา มโย อัง และนายอัง ตูรา ซอว ถูกกล่าวหาว่ากระทำการ “ก่อการร้าย”

การสั่งประหารที่ชั่วร้าย

ด้านทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ประณามการสั่งประหารกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมียนมาว่าเป็น “การกระทำที่ชั่วร้าย”

นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการตอบโต้รัฐบาลเมียนมาเพิ่มเติม ซึ่งทางเลือกทั้งหมดมีอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นมีมาตรการตอบโต้ต่ออุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติด้วย พร้อมยังเรียกร้องให้นานาชาติยุติการขายยุทโธปกรณ์ให้กับทางการเมียนมา รวมทั้งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการให้ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลเมียนมา

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา

ที่มาของภาพ, EPA-EFE/REX/Shutterstock

ในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งแรกของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (วันที่ 9-10 ก.ค.) หนึ่งในประเด็นที่เขาได้หารือกับทางการไทย คือ สถานการณ์เมียนมาหลังรัฐประหาร

นายบลิงเคน กล่าวต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวในวันที่ 10 ก.ค. เรียกร้องให้ประชาคมอาเซียน รวมถึงจีนร่วมกันกดดันให้รัฐบาลเมียนมาคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศและพิจารณาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ตกลงไว้กับอาเซียน ในขณะที่อาเซียนจำเป็นต้องเรียกร้องให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ตามที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำชาติอาเซียน 9 ในเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว

“เป็นที่น่าเสียดายที่เรายังไม่เห็นการเคลื่อนไหวเชิงบวกในเรื่องนั้น” นายบลิงเคนกล่าวในขณะนั้น

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

ถึงตอนนี้ ผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนยังไม่ได้แสดงออกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในเมียนมา แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนได้ส่งหนังสือถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เรียกร้องไม่ให้นำโทษประหารชีวิตมาใช้ ท่ามกลางความกังวลของประเทศเพื่อนบ้าน

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว