7 สิงหาคมวันรพี พระบิดากฎหมายไทย คดีพญาระกาและวิกฤตตุลาการ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย Cr.ภาพ S.Phormma’s Colorization ภาพต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ปรับปรุงเนื้อหา วันที่ 7 สิงหาคม 2566

7 สิงหาคม เป็นสำคัญของนักกฎหมายไทย หรือวันรพี อันมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับคำสาปเสนาบดี “28 มงกุฎ” ที่ปลายพระแท่น รัชกาลที่ 5

7 สิงหาคม ของทุกปี คือวันรพี หรือวันพระบิดาแห่งกฎหมายไทย

7 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศเป็น “วันออกเสียงประชามติ” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2560

7 สิงหาคม 2463 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าฟ้าผู้เฉลียวฉลาด-พุ่งแรง พระองค์หนึ่ง สิ้นพระชนม์ลง หลังเสด็จรักษาพระอาการประชวร ทรงเป็นองค์ต้นราชสกุล “รพีพัฒน์”

ก่อนหน้านั้นทรงมีพระปรารภว่า “…ถ้าฉันเกิดชาติใหม่ จะมาเกิดเป็นชาวฝรั่งเศสในปารีส…”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระนามเดิมพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417

กรมหลวงราชบุรีฯ เป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่จบวิชากฎหมาย ตามหลักสูตรปริญญา แบชเลอร์ ออฟ อาร์ต เกียรตินิยม จากวิทยาลัยไครเชิร์ส ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ด้วยพระชันษาเพียง 20 ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสถึงกรมหลวงราชบุรีฯ ว่า “เป็นคนที่จะใช้อันใดถึงอกถึงใจ แต่มีพุ่งแรง ๆ อยู่ ถ้าได้ทำการในที่รับผิดชอบซึ่งหนักบ่า พอถอยกำลังแล้วก็จะลดลงมา พอเหมาะทีเดียว”

กรมหลวงราชบุรีฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ที่พระชันษาน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยพระชันษา 22 ปี

เป็นคนมั่นในพระทัยตัวเองสูง ตอบโต้กับพระบรมราชชนก อย่าง “พุ่งแรง” ครั้งหนึ่ง เมื่อถูกตรัสถามว่า “รพี พ่อได้ยินว่าผู้พิพากษากินเหล้ามากใช่ไหม ทำไมรพีจึงปล่อยให้เป็นเช่นนั้น”

กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงตอบว่า “ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้าฯ ในเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเลือกผู้พิพากษาก็ดี เลื่อนชั้นผู้พิพากษาก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าจะถือหลักในใจอยู่เพียง 2 ข้อคือ ต้องมีสติปัญญาเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดอย่างหนึ่ง และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอีกอย่างหนึ่ง

พูดสั้น ๆ ต้องฉลาดและไม่โกง ถ้าโง่ก็ไม่ทันคนอื่น โจทก์ จำเลยจะต้มเอาได้ ทำให้เสียความยุติธรรม แต่ถ้าฉลาดแล้วโกงก็จะทำให้เสียความยุติธรรมอีกเหมือนกัน จะซ้ำร้ายยิ่งไปกันใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ไปสอบสวนหรือเอาใจใส่กิจธุระส่วนตัวของผู้พิพากษาแต่ละคน ใครจะกินเหล้าเที่ยวเตร่อย่างไร นอกเหนืออำนาจเสนาบดีจะบังคับบัญชา…”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในนามปากกา “ราม วชิราวุธ” ทรงจารึกถึง กรมหลวงราชบุรีฯ ไว้ว่า “ท่านได้รับความยกย่องสรรเสริญนักว่าเปนคนฉลาดเฉียบแหลม อีกทั้งพอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ทูลหม่อมก็โปรดปรานมาก ทรงมอบให้ทำราชการ ในตำแหน่งสำคัญ เปนเจ้าต่างกรมก่อนพี่ และเกิดมีศิษยานุศิษย์ บริษัทบริวารมากขึ้นโดยรวดเร็ว”

กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเกี่ยวข้องกับ “คดีพญาระกา” อันลือลั่นสั่นสะเทือนท้องพระโรง ปลายรัชสมัยที่ 5 เมื่อเหตุแห่งคดีมี “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์” ผู้มีศักดิ์เป็น “อา” ของกรมหลวงราชบุรีฯ นิพนธ์บทละครชื่อว่า “ปักษีปกรณัมเรื่องพญาระกา”

กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเห็นว่าบทละคร เป็นการแต่งเรื่อง กระทบกระเทียบเปรียบเปรยพระองค์ ถึงขั้นไม่บรรทมทั้งคืน ทรงโทมนัสเกินกว่าจะอยู่ดูหน้าคน จึงเสด็จลงเรือ ไปอยู่ย่านองครักษ์ปลายคลองรังสิต โดยมิได้กราบบังคมทูลลาราชการ

เนื้อหาในบันทึก “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ทรงบรรยายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “คดีพญาระกา” ไว้ว่า “เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2452 พักตร์ หม่อมของกรมหมื่นนราธิปฯ หนีจากวังข้ามฝั่งไปอยู่ธนบุรี กรมนราธิปฯ ไปตามและร้องเอะอะที่บ้านเรือนของผู้ที่พักตร์ ไปอาศัยอยู่

หลังจากนั้น พักตร์มาอาศัยในความคุ้มครองของตำรวจพระนครบาลในพระนคร เจ้าพระยายมราช พยายามเกลี้ยกล่อมให้กลับไปวังกรมนราธิปฯ แต่ไม่เป็นผล จึงได้ทำการตกลงกับกรมหมื่นราชบุรี ให้รับตัวไปที่วังของท่าน แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กรมนราธิปฯ”

ในพระราชนิพนธ์ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 บรรยายว่า “ทราบว่าเที่ยวทรงบ่นกับใครต่อใครเปนอันมาก ว่าเสนาบดีนครบาลเปนใจให้หม่อมของท่านหนี”

จากนั้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2453 มีผู้นำหนังสือบทละครเรียกว่า “ปักษีปกรณัมเรื่องพญาระกา” ไปถวายกรมราชบุรี ทำให้พระองค์ทรงน้อยพระทัย ยิ่งเมื่อได้ทราบว่ากรมพระนราธิปฯ ได้นำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 แล้ว และมีกำหนดว่าจะเล่นเรื่องละครถวาย ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2453

พระราชนิพนธ์โดย “ราม วชิราวุธ” ระบุว่าบทละครดังกล่าวทำให้กรมราชบุรี “เกิดโทมนัสและแค้นอย่างมาก โดยเข้าพระทัยว่า ทูลกระหม่อมไม่ทรงพระเมตตาพระองค์ท่านเสียแล้ว จึงจะทรงยอมให้กรมนราธิปเล่นละครด่าได้เช่นนั้น เขาเล่าว่ากรมราชบุรีทรงกรรแสงและเดินไปมามิได้บรรทมตลอดคืนวันที่ 30 พฤษภาคม”

ประกอบกับในเวลานั้นทรงมีอาการประชวรเริ่มปรากฏขึ้น ทรงมีพระหัตถเลขาทูลเกล้าฯถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ตอนหนึ่งว่า “ในสมองนั้นร้อนเผ็ดเหมือนหนึ่งโรยพริกแดงระหว่างมันสมองกับกระดูก…”

และอีกตอนว่า “เมื่ออาการเป็นดังนี้พระเดชพระคุณ เป็นล้นเกล้าฯ ที่ได้ทรงปล่อยให้คงเป็นเสนาบดี รับพระราชทานเงินเดือนอันงามเลี้ยงชีพมา แต่ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่า เมื่อทำงานฉลองพระเดชพระคุณไม่ได้ฉะนี้ จะไม่เปิดโอกาสถวายให้ทรงเลือกสรรผู้อื่นรับน่าที่ราชการไม่ให้เสียต่อไปแล้ว ก็เท่ากับมีความอกตัญญู เอาเปรียบพระราชเมตตา เสียประโยชน์ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และในแผ่นดิน ทั้งเพียรทำให้ชีวิตของตนเองสั้นลงไปโดยใช่เหตุ…”

แม้ในเวลาต่อมาทราบว่า กรมหลวงราชบุรีฯ ยังไม่ได้ทูลลาออก และยังไม่ได้พระราชทานพระบรมวินิจฉัยจากพระบรมชนก

กระนั้น ข้าราชการและผู้พิพากษากระทรวงยุติธรรม 28 คน ได้ลงชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกตาม ด้วยลูกศิษย์และข้าราชการทั้ง 28 คนนี้เคยมีคำมั่นสัญญาอันเป็นสัตย์วาจาร่วมกันว่า “แม้มีภัยอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น จะล้มก็ล้มด้วยกัน จะล่มจมก็ล่มจมด้วยกัน…”

ในหนังสือกราบบังคมทูลขอลาออก ของข้าราชการกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษา มีใจความสำคัญตอนหนึ่งคือ “ขอพระราชทานกราบถวายบังคม ลาออกตามกรมหลวงราชบุรีฯ เพราะเมื่อไร้กรมหลวงราชบุรีฯ ผู้ทรงเป็นครูและผู้อุปถัมภ์เสียแล้ว ก็รู้สึกว่าจะหาความเจริญ หรือความอยู่โดยผาสุขมิได้ต่อไป”

ในเหตุการณ์ดังกล่าว อาจเรียกได้ว่าครานั้นเกิด “วิกฤตตุลาการ” ครั้งแรก และเป็นการ สไตรก์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ราชการไทย

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “28 มงกุฎ” และให้จารึกชื่อไว้ปลายพระแท่นบรรทม เพื่อทรงสาปแช่ง

1 ใน 28 ชื่อนั้น มีชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ต่อมาคือ นายกรัฐมนตรีคนแรก หลังสิ้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ อีกตอนหนึ่งว่า “ในเรื่องคดี พญาระกา นี้ทรงเสียพระราชหฤทัยที่เกิดเปนเรื่องราวมากมายโดยหาควรไม่เลย ถ้าแม้ผู้ที่ถูกว่านั้นทำให้ดี ๆ จะไว้เกียรติยศได้ดี ไม่มีข้อรำคาญอย่างหนึ่งอย่างใดเลย อย่างไร ๆ ก็ดี ควรที่จะรอฟังให้คดีชำระสะสางไปตามทำนองคลองธรรม หรือแม้จะเปนเพียงกล่าวว่า ถ้าไม่ชำระจะต้องลาออกเช่นนี้ก็ยังจะดีกว่า นี่ทำตึงตังไป จึงกลับทำให้เรื่องราวฉาวมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อคดีได้วินิจฉัยแล้วเช่นนี้ ยังจะยืดยาวต่อไปอีก ก็จะเปนที่น่าเสียพระราชหฤทัยมาก…”

และในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระเมตตาต่อพระราชโอรสพระองค์นี้ ดังปรากฏในพระราชดำรัสพระราชทานอภัยโทษ ความตอนหนึ่งว่า “…เจ้าได้คิดผิดไปมาก เชื่อฟังคนที่ไม่ควรเชื่อ จึงคิดและประพฤติไขว้เขวไปได้เป็นหนักหนา ควรที่จะได้บอกเหตุการณ์เสียโดยตรงแต่ชั้นต้น ฉันพ่อกับลูก แต่ข้าก็รู้อยู่ว่า เจ้าเปนโรคจริง ๆ จึงมีความเมตตาและให้อภัย…”