ทนายนิติบุคคล แอชตัน อโศก โต้ 4 ประเด็น สู้สยามสมาคมฟ้องทุบ ทิ้งตึก

ทนายความนิติบุคคล “แอชตัน อโศก” เปิดบทความโชว์ 4 ประเด็นอุทธรณ์ โต้ “สยามสมาคม” ฟ้องทุบตึก อ้อนภาครัฐอย่าโดดเดี่ยว 668 เจ้าของห้องชุด

วันที่ 6 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิสุทธิ์ รักวงษ์ ตัวแทนกฎหมายนิติบุคคลโครงการแอชตัน อโศก ได้นำเสนอบทความ เปิดประเด็นอุทธรณ์แอชตัน อโศก : การต่อสู้ครั้งสำคัญของผู้สุจริตและได้รับผลเสียหายหนักที่สุด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เปิดประเด็นอุทธรณ์ “แอชตัน อโศก” : การต่อสู้ครั้งสำคัญของผู้สุจริตและได้รับผลเสียหายหนักที่สุด

ความเป็นมา

จากกรณีที่ศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 450/2560 ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2413/2565 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 โดยมีสาระสำคัญว่า

สยามสมาคม เป็นผู้มีสิทธินำคดีมาฟ้อง แต่สำหรับประเด็นสำคัญในคดีที่ว่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการแอชตัน อโศก ของอนันดา เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่นั้น

ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องในประเด็นนี้ของสยามสมาคมไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าประเด็นนี้ศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 (“คดีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน”) ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า

ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กฎหมายกำหนด การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธาอนุญาตให้อนันดาทำการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งการก่อสร้างทุกฉบับที่ออกให้แก่อนันดา โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว

สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้ว่าราชการ กทม.ละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในการออกคำสั่งให้อนันดาระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน อโศก หรือไม่นั้น

ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า เมื่อผู้ว่าราชการ กทม.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากสยามสมาคมว่าการก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ว่าราชการ กทม.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อร้องเรียนและแจ้งตอบข้อร้องเรียนให้สยามสมาคมทราบ หากพบว่ามีการกระทำตามข้อร้องเรียนจริง

ผู้ว่าราชการ กทม.ต้องมีคำสั่งให้อนันดาระงับการก่อสร้าง แต่กลับไม่ได้ดำเนินการใด จนกระทั่งอนันดาก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการ กทม. ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้อำนวยการเขตวัฒนาละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางเห็นว่าปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้มีการโอนขายให้แก่ประชาชนไปแล้ว 668 ห้อง จากการก่อสร้างห้องพักอาศัยทั้งสิ้น 783 ห้อง หากศาลจะมีคําพิพากษาให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน อโศก ในส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ให้โอกาสแก่ผู้ว่าราชการ กทม. ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้อำนวยการเขตวัฒนา ได้หาวิธีการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนและเสียหายให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก และเจ้าของร่วมซึ่งเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคําสั่งตามใบรับแจ้งการก่อสร้าง และถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมอาคารของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ประกอบกับในทางพฤตินัยที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการเป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่น่าจะสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ศาลปกครองชั้นต้นจึงพิพากษาให้ผู้ว่าราชการ กทม. ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ผู้อำนวยการเขตวัฒนา อนันดาและ รฟม. หาวิธีการแก้ไขให้ที่ดินเป็นไปตามกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ให้ผู้ว่าราชการ กทม. หรือผู้อำนวยการเขตวัฒนา รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน อโศก เฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างของทางจำเป็น 6.40 เมตร) ให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน

คำพิพากษาที่ตัดสินออกมานั้นยังคงไม่ใช่บทสรุปของเรื่องนี้ เนื่องจากคู่กรณีที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน คือ ภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2565

“นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก” อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก ในฐานะตัวแทนลูกบ้านซึ่งเป็นผู้ร้องสอดที่ 3 จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดยกคำฟ้องของสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยในอุทธรณ์ได้ระบุเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองกลางด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวม 128 หน้า ซึ่งมีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก : สิทธิในการฟ้องคดี

นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก อุทธรณ์ว่า ข้ออ้างที่สยามสมาคมอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยอ้างว่าการก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ทำให้อาคารเรือนคำเที่ยงได้รับความเสียหายจนต้องฟ้องคดีนี้เพื่อให้ระงับการก่อสร้างอาคาร เพิกถอนใบอนุญาตและให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว

เห็นได้จากปัจจุบันโครงการแอชตัน อโศก ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 50 ชั้น โดยที่สยามสมาคมและเรือนคำเที่ยงก็ยังคงอยู่โดยไม่ได้รับความเสียหายดังอ้างไว้ในคำฟ้อง และยังปรากฏว่าอนันดาได้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างจนเป็นที่พอใจแก่สยามสมาคมแล้ว ดังนั้น สยามสมาคมจึงมิได้เป็นผู้เดือดร้อนเสียหายในคดีนี้

นอกจากนี้ สยามสมาคมได้รู้ถึงการก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2557 และได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการ กทม. ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2559 แล้วไม่ได้รับการชี้แจง แต่เพิ่งนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2522

กรณีจึงชอบที่ศาลปกครองจะยกฟ้องของสยามสมาคม แต่ศาลปกครองชั้นต้นกลับไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีดังกล่าว ทั้งที่หากศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีดังกล่าวก็ชอบที่จะมีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาฟ้องคดีแล้ว

ประเด็นที่สอง : ความชอบด้วยกฎหมายของทางเข้าออกโครงการแอชตัน อโศก

นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก อุทธรณ์ว่า คู่ความในคดีนี้ไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความ รวมถึงนิติบุคคลอาคารชุดด้วย ศาลปกครองกลางในคดีนี้จึงต้องพิจารณาประเด็นที่ว่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการแอชตัน อโศก มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะตามกฎหมายหรือไม่

จากพยานหลักฐานที่ปรากฎในคดีนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีนี้ นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก และเจ้าของร่วมเชื่อโดยสุจริตว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารชุดแอชตัน อโศก แล้วว่าชอบด้วยกฎหมาย และเชื่อโดยสุจริตว่า การที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนเป็นทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการก่อสร้างอาคารชุดแอชตัน อโศก เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ได้แก่

(1) สำนักงานเขตวัฒนา (2) สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร (3) กรมโยธาธิการและผังเมือง (4) สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (5) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (6) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) สำนักงานที่ดินพระโขนง และ (8) กรมที่ดิน

ดังนั้น ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเจ้าของร่วมย่อมต้องเชื่อโดยสุจริตใจว่าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและจดทะเบียนอาคารชุดโครงการอาคารชุดแอชตัน อโศก

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหลายฉบับ ได้แก่

(1) ใบรับหนังสือแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ รวม 3 ฉบับ  (2) ใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือแบบ อ.6 (3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนอาคารชุด

(4) หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (5) ใบอนุญาตให้ใช้ทางของผู้ร้องสอดที่ 2 (6) ใบอนุญาตเชื่อมทางสาธารณะ(7) หนังสือเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงยิ่งทำให้เจ้าของร่วมเชื่อมั่นว่าโครงการได้ก่อสร้างโดยชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับประเด็นที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนมาเป็นทางเข้าออกโครงการนั้น เจ้าของร่วมเห็นว่าการอนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนเป็นทางเข้าออกโครงการไม่เป็นเหตุทำให้การใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนต้องเสียไป และไม่ได้กระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าและพื้นที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท

เนื่องจากการใช้ทางเข้า-ออกดังกล่าวเป็นเพียงการใช้ที่ดินร่วมกันระหว่าง รฟม.เจ้าของร่วมในโครงการแอชตัน อโศก และประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยนอกจากการใช้ประโยชน์ร่วมในส่วนที่เป็นทางเข้า-ออกพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแล้ว

รฟม.ยังได้ใช้บริเวณพื้นที่ใต้ดินของที่ดินทางเข้า-ออกของโครงการแอชตัน อโศก เป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิทที่ประกอบไปด้วยอาคารสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและระบบรางรถไฟฟ้าใต้ดินอันเป็นวัตถุประสงค์โดยตรงของกิจการรถไฟฟ้าอีกด้วย และยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับ รฟม.

ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก ได้ขอให้ศาลปกครองตรวจสอบทางเข้า-ออกพิพาทเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในประเด็นที่ว่า รฟม.ได้ใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนบริเวณบนดินและใต้ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนหรือไม่ และการที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าว เป็นทางเข้าออกอาคารชุดแอชตัน อโศก สู่ถนนอโศกมนตรี เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการรถไฟฟ้าและพื้นที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท หรือเป็นเหตุทำให้การใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนต้องเสียไปหรือไม่

แต่ศาลปกครองกลางไม่รับคำร้อง นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก จึงโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้และขอให้ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ตรวจสอบทางเข้า-ออกพิพาทเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในประเด็นการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนมีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดีนี้

ประเด็นที่สาม : เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก เชื่อว่าผู้ว่าราชการ กทม. ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายน่าจะได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก แล้ว มิเช่นนั้นแล้ว ผู้ว่าราชการ กทม.คงจะไม่ออกใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ และไม่ออกใบรับรองการใช้อาคาร (อ.6) ให้แก่ทางอนันดา

นอกจากนี้ ศาลปกครองชั้นต้นเองยังได้มีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ กทม.ได้เข้าไปประสานงานดูแลซ่อมแซมแก้ไขความเสียหายให้กับสยามสมาคมมาโดยตลอด และเคยได้รับแจ้งจากสยามสมาคมว่าไม่ติดใจเรื่องความเสียหายแล้ว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ กทม.ได้ติดตามตรวจสอบให้ความช่วยเหลือสยามสมาคมตามที่ได้เคยร้องเรียนไว้มาโดยตลอด แต่สยามสมาคมเป็นฝ่ายปฏิเสธการช่วยเหลือ

ดังนั้นความเสียหายที่สยามสมาคมอ้างว่าเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ในคดีนี้จึงผ่านพ้นไปจนโครงการแอชตัน อโศก ได้เปิดการใช้งานมามากกว่า 4 ปีแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าก่อความเสียหายใด ๆ อีก  จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องพิจารณาคดีนี้อีกต่อไป

ประเด็นที่สี่ : ความเสียหายจากการรื้อถอนอาคาร

กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การก่อสร้างอาคารชุดแอชตัน อโศก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ในทางพฤตินัย โครงการแอชตัน อโศก มีทางเข้าออกขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ ซึ่งมีขนาดเพียงพอสำหรับทางเข้าออกของรถดับเพลิง และเพียงพอสำหรับการบรรเทาสาธารณภัยกรณีเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแล้วนั้น

นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก ก็ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าระบบป้องกันอัคคีภัยของโครงการแอชตัน อโศก เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายควบคุมอาคาร สมดังเจตนารมณ์ในการป้องกันอัคคีภัยแล้ว และขอให้ศาลปกครองสูงสุดนำหลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้รับจากการรื้อถอนโครงการเปรียบเทียบกับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทุกภาคส่วนที่จะเกิดขึ้นจากการรื้อถอนโครงการ มาใช้ประกอบการพิพากษาคดี

เช่นเดียวกับที่ศาลปกครองสูงสุดเคยนำหลักความได้สัดส่วนมาประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีเช่นเดียวกับที่เคยใช้หลักการดังกล่าวในคดีแปร ปตท. ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ.35/2550  ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะ ทางได้เสียของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งกับภาครัฐและเอกชนดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว

เห็นได้ชัดเจนว่าหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้รื้อถอนโครงการแอชตัน อโศก จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเจ้าของร่วม สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อในโครงการ ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายอื่นอีกไม่น้อยกว่า 14 โครงการ ที่ใช้ทางเข้าออกที่ได้มาจากการเวนคืน อนันดา รฟม. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง และความเสียหายจากการรื้อถอนอาคารชุดแอชตัน อโศก ต้องลุกลามไปถึงระบบการลงทุน และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างมหาศาลโดยไม่อาจประเมินค่าได้

ในทางกลับกัน การมีอยู่ของโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงความเสียหายต่อบริการสาธารณะและประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งไม่ปรากฏว่า รฟม. ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสีย แต่ยิ่งไปกว่านั้น การรื้อถอนอาคารชุดแอชตัน อโศก การเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างและดัดแปลงอาคารก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใด เจ้าของร่วมจึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาคดีโดยคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตและใช้หลักแห่งความได้สัดส่วนเพื่อหาทางออกที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมด้วย

ตอนจบของมหากาพย์คอนโดฯแห่งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานในวงการอสังหาริมทรัพย์เลยก็ว่าได้ บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอลุ้นกันในคดีหมายเลขแดงที่ ส19/2564 ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน ยื่นฟ้องขอให้รื้อถอนอาคารชุดแอชตัน อโศก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่ศาลปกครองสูงสุดจัดทำคำพิพากษา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก และลูกบ้าน ไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ความดังกล่าว จึงไม่ได้มีโอกาสนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นเข้าไปในคดีนั้น

แต่ความเสียหายหายที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านน่าเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งทางนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก และลูกบ้าน ยังคงมีความหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะไม่ทอดทิ้ง 668 ครอบครัวที่มีบ้านอยู่ในอาคารแห่งนี้