จิราพร – พรรณิการ์ ชี้ พัฒนาคน ยอมรับความหลากหลาย ดัน ซอฟต์เพาเวอร์ไทยสู่เวทีโลก

วันที่ 23 กันยายน 2566  FEED สื่อผู้ผลิตคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ภายใต้เครือมติชน จัดงานสุดยิ่งใหญ่แห่งปี FEED Y CAPITAL 2ND เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2 ขนทัพนักแสดงซีรีส์สุดปัง และศิลปิน T-POP ขึ้นโชว์เสิร์ฟความสุขให้แฟนๆ จนล้นทะลักเวที สร้างปรากฏการณ์ความฟินเต็มกราฟ ในวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์

ทั้งนี้ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตัวเองเป็นสาววายในยุคบุกเบิก ตั้งแต่การเสพสื่อวายเป็นเรื่องที่ดูผิดบาป ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม จนถึงปัจจุบันที่เราเดินทางมาไกลมาก จากเป็นสื่อที่ต้องซื้อขายตามใต้ดิน แต่วันวันนี้ซีรีส์วายถูกฉายเป็นสื่อช่องทางหลักแล้ว รวมถึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่า ซีรีส์วายเป็นอุตสาหกรรมที่ปังแล้ว ปังอยู่ และกำลังจะปังต่อ เนื่องจากในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา อุตสากรรมหลายอย่างได้รับผลกระทบ แต่ซีรีส์วายที่เป็นซีรีส์ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ทั้งชายชายและหญิงหญิง สามารถเติบโตสวนทางกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยซีรีส์วายสามารถทำเงินได้กว่า 1,000 ล้านบาทจากทั่วโลกในช่วงโควิด มีฐานคนดูที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่คือ วายอีโคโนมี หรือธุรกิจวาย

ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจคือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพบว่า เมื่อหลายปีที่แล้ว ซีรีส์วายมีการผลิตอยู่ไม่กี่เรื่อง แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ อัตราการผลิตซีรีส์วายเติบโตขึ้นกว่า 270% ถือว่ารวดเร็วมาก สะท้อนให้เห็นถึงฐานคนดูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจากข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตซีรีส์วายของเอเชีย เป็นฮับที่หลายประเทศจับตามองมากที่สุด โดยซีรีส์วายไปบุกตลาดต่างประเทศ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ที่ซีรีส์วายไทยได้ฉายบนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีสมาชิกนับร้อยล้านคน

จิราพร สินธุไพร

ไม่ได้มีแค่ซีรีส์วายที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือมูลค่าทางการตลาดเท่านั้น แต่ความคลั่งไคล้ในตัวศิลปินยังนำไปสู่การทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการจัดอีเวนต์ คอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง หรือการได้รับเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า จึงทำให้ที่ผ่านมาศิลปิน-นักแสดงซีรีส์วาย สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้สูงมาก โดยสร้างปรากฏการณ์ฮอลล์แตก ห้างสรรพสินค้าแตกมาแล้ว

รวมถึงศิลปินซีรีส์วายสามารถสร้างการรับรู้ในโลกออนไลน์ อาทิ แฮชแท็กในทวิตเตอร์ ที่มียอดผู้มีส่วนร่วมติดอันดับโลกหลายครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความอู้ฟู่ของซีรีส์วายไทย นอกจากนี้ นักแสดงหรือศิลปินซีรีส์วายยังได้รับแต่งตั้งเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของแบรนด์ใหญ่ระดับโลก แสดงให้เห็นว่าแบรนด์ใหญ่ระดับโลกมองอุตสาหกรรมวายของไทยในมิติที่สูงมาก ไปไกลระดับโลก ไปแล้ว ไปอยู่ และไปต่อ

เราจึงต้องมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรในการต่อยอดให้ซีรีส์วายมีศักยภาพและฐานคนดู สามารถดันให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์เพาเวอร์อื่นๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ การใส่ฉากอาหารไทยเข้าไปในซีรีส์วาย เพื่อต่อยอดอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่ม รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวและกีฬาบางประเภทของไทยด้วย

ทั้งยังจะสามารถทำอย่างไรในการใช้ซีรีส์วายปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของไทย ที่ไม่ได้ขี่ช้างแล้ว แต่มีบีทีเอส มีโครงสร้างพื้นฐานอำนวยความสะดวกมากมาย

พรรคเพื่อไทย ได้เรียนรู้และถอดบทเรียนจากในอดีต ที่เคยทำโครงการต่างๆ อาทิ ครัวไทยสู่ครัวโลก โดยตกผลึกเป็นข้อเสนอ 2 ส่วน เพื่อทำให้ซอฟต์เพาเวอร์ไทยสำเร็จขึ้นจริงได้ คือ 1.การพัฒนาคน และ 2.การพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงเป็นภาคบริการที่สร้างมูลค่าสูงมาก แต่มีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้เพียง 0.14% ของผู้ที่มีงานทำทั้งหมด จึงมีโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ อัพสกิลและรีสกิลทักษะที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์เพาเวอร์ จะต้องมีทักษะสูงขึ้น อย่างน้อย 1 คนจาก 20 ล้านครอบครัวที่มีความฝัน ไม่ว่าจะอยากทำอาชีพอะไร ก็สามารถเข้าอบรมโครงการได้

จิราพร สินธุไพร

โดยจะตั้งหน่วยงานชื่อ ไทยแลนด์ ครีเอทีฟ คอนเทนต์ เอเจนซี่ (ทีเอชเอซีซีเอ) ในการเป็นตัวกลางผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ของไทยให้เกิดขึ้นได้ ทำงานร่วมกับเอกชน ในการกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหา กฎระเบียบ และใช้งบประมาณร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมซีรีส์วาย รวมถึงซอฟต์เพาเวอร์ในด้านอื่นๆ ของไทย สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องสะดุดหยุดลงตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

“รัฐบาลตั้งคณะกรรมยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติขึ้นมา โดยในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จะเป็นการประชุมใหญ่อย่างเป็นทางการครั้งแรก มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำให้วันที่ 3 ตุลาคมนี้ จะกางยุทธศาสตร์พัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ของไทย มีแผนงานในระยะ 100 วัน 6 เดือน และ 1 ปี ที่จะพัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ของไทยให้สำเร็จต่อไป” น.ส.จิราพรกล่าว

ด้าน างสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ซอฟต์เพาเวอร์ หากไม่เข้าใจแนวคิดว่า ไม่มีวันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่มีวันเป็นซอฟต์เพาเวอร์อย่างแท้จริง หากไม่ได้เกิดการวางแผนจากภาครัฐ เนื่องจากซอฟต์พาวเวอร์คือ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายตั้งใจทำสิ่งนี้ขึ้น เพื่อสร้างพลังต่อรองเพื่อจุดหมายใดจุดหมายหนึ่ง

ซอฟต์เพาเวอร์ มีดัชนีชี้วัดอย่างเป็นทางการในระดับโลก โดยเป็นการจัดอันดับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าประเทศใดมีซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในระดับใดบ้าง ซึ่งประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ สหรัฐ รองลงมาเป็นจีน ญี่ปุ่น เรียงแบบนี้มาตลอด เกาหลีใต้อยู่อันดับที่ 12 เนื่องจากซอฟต์พาวเวอร์ หมายถึงมหาอำนาจที่คนรู้สึกว่ามีความรู้จักและน่าเป็นแบบอย่าง มีความหมายทางจิตใจของคน ไม่ได้เกี่ยวว่าจะต้องรบชนะหรือไม่อย่างไร เป็นอำนาจนำในทางวัฒนธรรมเมื่อคิดถึงประเทศนั้นๆ โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ถือว่าไม่แย่จากใน 120 อันดับทั่วโลก

แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ แฟชั่นไทยไปอยู่ในแฟชั่นโลกอย่างมีศักดิ์ศรี หรือทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายสามารถไปบุกตลาดโลกได้ เป็นประเทศที่ถูกจดจำและชื่นชมในระดับโลก ซึ่งต้องพูดว่าอันดับที่ 35 ไม่เพียงพอ แล้วคำถามคือ ทำอย่างไรให้อันดับของซอฟต์เพาเวอร์ไทยดีขึ้นและเพียงพอในการผลักดันผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลก

พรรณิการ์ วานิช

โดยซีรีย์วายจะถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทยได้ อันดับแรกรัฐบาลต้องรู้ก่อนว่า วิธีทำให้ซอฟต์เพาเวอร์ของไทยขึ้นสู่ระดับโลกได้ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่แค่เอาซีรีย์วายไปขายต่างประเทศได้ก็หมายถึงเป็นซอฟต์เพาเวอร์แล้ว ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ซีรีย์เกาหลีหรือศิลปินไอดอลเกาหลี ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ เนื่องจากสุดท้ายแล้วต้องทำให้คนเกิดความต้องการมีส่วนร่วม เหมือนพอดูซีรีย์เกาหลีแล้วอยากทำตาม ทั้งการทานอาหารเกาหลี หรือการไปเที่ยวตามรอยในประเทศนั้นๆ รวมถึงอยากเรียนภาษาเกาหลีด้วย แบบนี้คือพลังของซอฟต์เพาเวอร์ที่แท้จริง

ขณะเดียวกัน ซีรีย์วายจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไรนั้น แน่นอนว่า 1.เริ่มต้นจากการขายซีรีย์ให้ได้ก่อน โดยทุกวันนี้กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ฐานคนดูซีรีย์วายเพิ่มขึ้น 328% คนดูเยอะมาก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จัดงานจับคู่ทางธุรกิจ ขายของอยู่นั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม ก็บอกให้ผู้กำกับซีรีย์วายขึ้นป้ายเตือนในการฉายซีรีย์ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมห้ามลอกเลียนแบบ หรือไม่แนะนำให้เด็กและเยาวชนดู

“แล้วถามว่า ประเทศไทยจะมีซีรีย์วายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ส่วนหน่วยงานอื่นหรือกระทรวงอื่นมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีจริยธรรม เป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศไทยถามว่าแล้วซีรีย์วายจะไปรอดหรือไม่ ทำให้นโยบายของรัฐบาลจึงไม่ใช่เพียงการทำตลาด จับคู่ธุรกิจขายของเท่านั้น แต่สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือ การทำให้สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ด้วย” นางสาวพรรณิการ์

นางสาวพรรณิการ์ กล่าวว่า 2.การส่งเสริมอุตสาหกรรมซีรีย์วาย ในมิติของภาครัฐที่พูดถึงการสนับสนุนดารา นักร้อง นักแสดง ผู้กำกับ ผู้จัดหน้าใหม่ แต่สิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงคือ แรงงานในกองถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีย์เหล่านั้น เพราะภาพเบื้องหลังกองถ่ายที่สร้างซีรีส์เหล่านี้มาให้ดู ต้องยอมรับว่างานกองถ่ายถือเป็นงานที่โหดร้ายและขูดรีดที่สุดงานหนึ่ง

ทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์ไทยจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เชิดหน้าชูตาและเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างไร หากยังต้องทำงานติดต่อกัน 36 ชั่วโมง ไม่ได้ค่าล่วงเวลาตอบแทน การทำสัญญาจ้างชั่วคราวหลายทอด เพราะต้องการประหยัดงบประมาณและต้นทุนมากที่สุด กดให้ต้นทุนการถ่ายทำน้อยที่สุด เพื่อแข่งขันกับอุตสาหกรรมได้ แล้วเราจะขายซีรีส์วายได้หลักหมื่นล้านบาททำไม ในเมื่อคนที่มีรายได้และรวยจะยังมีเพียงนักแสดงจำนวนหยิบมือ ผู้กำกับเพียงไม่กี่คน

ทำให้หากอยากให้อุตสาหกรรมซีรีย์วายเป็นที่เชิดหน้าชูตา เป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทยจริงๆ จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความงอกงามทางเศรษฐกิจ ดอกผลของความงอกงามนั้นตกถึงมือของทุกคนในวงการ ไม่ใช่เพียงดารานักแสดงหรือผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่คน

จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับสวัสดิการของแรงงานกองถ่าย รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น จะต้องปรับสัญญษจ้างให้เป็นธรรม กำหนดเวลาการทำงานเป็นมาตรฐานไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเราคงไม่ต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมที่ผูกขาด เอารัดเอาเปรียบแรงงานขึ้นอีกอุตสาหกรรมในประเทศไทยแล้ว

นางสาวพรรณิการ์ กล่าวว่า และ 3.การจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมซีรีย์วาย ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ แต่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่บอกว่าประเทศไทยมีความเป็นอารยะ สามารถรับความหลากหลายทางเพศได้จริง แต่ชวนคิดว่าสังคมไทยมีความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นจริงหรือไม่ เพราะซีรีย์วายที่เป็นความรักระหว่างเพศเดียวกันแบบเป็นทั้งหญิงและหญิง หรือชายและชาย

แต่ในช่วงที่ผ่านมา ซีรีย์วายที่เป็นหญิงและหญิง มีน้อยกว่าชายและชาย อยู่ประมาณ 4-5 เท่า มีการให้ข้อมูลว่าเพราะวายแบบหญิงและหญิงขายไม่ได้ คนดูน้อยว่าแบบชายและชาย แต่ข้อเท็จจริงคือ จะสรุปได้อย่างไรว่าคู่ของหญิงและหญิงขายได้น้อยว่าชายและชาย ในเมื่อยังไม่ได้ทดลองทำซีรีย์หญิงและหญิงให้เท่ากับระดับที่ส่งออกวายแบบชายและชายเลย

สะท้อนถึงหากจะทำให้อุตสาหกรรมซีรีย์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง และไปทันกระแสโลกจริงๆ อย่าทำให้เป็นแค่สินค้านำไปขาย แต่ทำให้เป็นคุณค่าของสังคมที่ทำให้ประเทศอื่นมองว่า ประเทศไทยดีมาก เปิดกว้าง มีความเท่าเทียม สะท้อนผ่านซีรีย์วาย ที่ตราบใดหากซีรีย์วายหรือการให้คุณค่ากับความหลากหลายทางเพศ ยังให้คุณค่าไม่ครบทุกคน ยังเลือกมองอยู่นั้น ก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเราเปิดกว้างอย่างแท้จริง

“สุดท้ายการจะทำให้อุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสายบันเทิงทั้งหมดให้เจริญก้าวหน้าไปกว่านี้ สิ่งแรกที่ต้องทำของรัฐบาลคือ หยุดปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน เสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนด้านต่างๆ อาทิ รสนิยมทางศิลปะที่มีความหลากหลายจะต้องได้รับการยอมรับและส่งเสริม ไม่ใช่การถูกแบนหรือถูกปิดกั้นอย่างเดียว เพราะตราบใดที่มีวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ และการริดรอนสิทธิเสรีภาพในความคิดสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรมใหม่ๆ ก็ไม่มีวันที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะไปไกลจนสามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้เหมือนประเทศอื่น อาทิ ญี่ปุ่น ที่ปล่อยให้คนทำงานแบบแทบไร้ขีดจำกัด จึงเป็นที่มาของความเจริญงอกงามในด้านวัฒนธรรมศิลปะ ที่สุดท้ายจะไม่ได้เป็นเพียงการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่จะเป็นการเติบโตของการยกระดับความมีอารยะและวัฒนธรรมไทยที่วิวัฒไปพร้อมคุณค่ามาตรฐานสากลของโลก” นางสาวพรรณิการ์ กล่าว

นางสาวพรรณิการ์ กล่าวว่า คาดหวังว่าคณะกรรมการของรัฐบาลปัจจุบันที่ให้ความสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการตั้งคณะทำงาน และมีนโยบายเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์มากมาย โดยอีกไม่นานจะมีการเสนองบประมาณเข้าสภาฯ ที่งบประมาณจากสมัยเดิมเคยให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพียงปีละ 500 ล้านบาท แต่ปีนี้คาดหวังว่าจะได้เห็นงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น เห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น ทันโลกมากขึ้น ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้นจากรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย รวมถึงคาดหวังว่าในอีก 4 ปีจากนี้เราจะได้เห็นซอฟต์เพาเวอร์ ที่เป็นพลังอ่อนของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพการต่อรองของไทยในเวทีโลกได้

FEED Y CAPITAL 2 ND มติชน เสิร์ฟความฟินเต็มกราฟ แฟนคลับทะลักสามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์