เปิด 2 มาตรการช่วยเอสเอ็มอี เหตุสินค้าจีนทะลักไทยขาดดุลพุ่ง

สินค้าจีน

เปรียบเทียบดุลการค้าระหว่างไทย-จีน ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ไทยขาดดุลการค้าให้กับจีนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2566 ไทยขาดดุลถึง 1,272,234 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่าไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออก และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ ล่าสุดคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs เคาะ 2 มาตรการเร่งด่วน

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 สืบเนื่องเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เครือข่ายธุรกิจบิสคลับประเทศไทย รวมถึงผู้แทนภาครัฐและเอกชน ในการแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลัก พร้อมได้เคาะ 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ระบุ ผลการประชุมเบื้องต้น นอกจากติดตามมาตรการ 9 ด้านที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อผลักดันให้ GDP SMEs ในประเทศ ขยับจาก 35.2% เป็น 40% ภายในปี 2570 และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ยังมีมติเคาะ 2 มาตรการเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าทันที ประกอบด้วย

มาตรการสร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์

สำหรับมาตรการดังกล่าว ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ ในการคัดเลือกพื้นที่จัดหาทำเลค้าขายราคาประหยัดสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย 8 ข้อ ได้แก่ 1) ใกล้แหล่งชุมชน เข้าถึงง่าย สะดวกสบายในการมาใช้บริการ 2) มีความหนาแน่นของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นลูกค้า 3) ผู้คนผ่านตลอดทั้งวัน 4) ต้นทุนทำเลเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 5) ระยะเวลาสัญญาเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม 6) มีที่จอดรถเพียงพอและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ 7) ความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และ 8) ไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของพื้นที่ เช่น กฎหมายข้อบังคับการจัดพื้นที่ (Zoning)

สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหารบางประเภทห้ามเปิดในบางพื้นที่ หรือ การต้องเสียภาษีป้าย เป็นต้น และมอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเจรจากับภาคเอกชนและหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขอจัดสรรพื้นที่ทำเลการค้าในกรุงเทพมหานครในราคาลดพิเศษสำหรับ SMEs และ แฟรนไชส์ไทย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ตลาดชุมชน ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นได้เจรจากับพันธมิตรและได้พื้นที่ราคาลดพิเศษแล้วจำนวน 124 แห่ง

Advertisment

ขณะที่ ส่วนภูมิภาคมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน เช่น ตลาดนัด/ตลาดชุมชน ห้างค้าปลีก/ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่การค้าอื่น ๆ โดยสามารถเจรจาได้พื้นที่แล้ว จำนวน 3,977 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ (17 จังหวัด) 758 แห่ง (19%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 1,435 แห่ง (36%) ภาคกลาง (25 จังหวัด) 1,121 แห่ง (28%) และภาคใต้ (14 จังหวัด) 663 แห่ง (17%)

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานการประกอบธุรกิจ จำนวน 525 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 234 แบรนด์ (44%) ธุรกิจเครื่องดื่ม 103 แบรนด์ (20%) ธุรกิจการศึกษา 68 แบรนด์ (13%) ธุรกิจบริการ 63 แบรนด์ (12%) ธุรกิจค้าปลีก 33 แบรนด์ (6%) ธุรกิจความงาม และสปา 24 แบรนด์ (5%)

รวมถึง ธุรกิจสินค้าชุมชน (Smart Local BCG) และธุรกิจในรูปแบบรถขายอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัก) ที่จะเป็นตัวเลือกให้ผู้ประกอบการพิจารณาเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ด้วย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0-2547-5953 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

Advertisment

มาตรการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางดำเนินงานและมาตรการในการขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SMEs โดยการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ คือ การกระตุ้นและส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในไทยซื้อสินค้าในประเทศส่งกลับภูมิลำเนาแทนการส่งเงิน โดยระยะแรกจะเน้นที่แรงงานจากประเทศเมียนมาก่อน เนื่องจากมีจำนวนแรงงานที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยมากที่สุด จำนวน 2,513,856 คน เบื้องต้นได้กำหนดโครงการนำร่อง (Pilot Project)

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มสินค้าที่เป็นที่รู้จักของแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว ผู้ผลิตเป็นผู้ส่งสินค้า หรือ มีศูนย์กระจายสินค้า (DC)/เอาต์เลต (Outlet) ในประเทศเมียนมา รูปแบบ : แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยซื้อสินค้าผ่านผู้ผลิตผ่านระบบสั่งซื้อ และผู้ผลิตจะเป็นผู้บริหารจัดการส่งสินค้าไปยัง DC/Outlet หรือเครือข่ายในประเทศเมียนมาเพื่อมารับสินค้า

2) กลุ่มสินค้า สินค้าชุมชนและ OTOP SMEs ที่ยังไม่มี Outlet ในประเทศเมียนมา รูปแบบ : แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยสั่งซื้อ สินค้าผ่านแพลตฟอร์มของโลจิสติกส์ และมีการจัดส่งผ่าน Logistics Platform ของไทยและประเทศเมียนมา นำส่งสินค้าตรงถึงครัวเรือนในเมียนมา ซึ่งต้องมีการส่งเสริมและนำเสนอสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เช่น ให้ทดลองใช้ก่อน นำเสนอสินค้าให้มีความน่าสนใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามมาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีไทยอีก 7 ด้าน พร้อมกำชับให้เร่งดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้ เพราะยิ่งดำเนินการให้เห็นผลเร็วขึ้นเท่าไร จะส่งผลดีต่อการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ทุกตลาด เป็นการสร้างและเพิ่มความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง หารือในประเด็น ‘การตลาดนำการผลิตในสินค้าเกษตรสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Biojet Fuels)’ ด้วย

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ GDP SMEs เติบโตทะลุ 40% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มั่นใจว่า ‘เอสเอ็มอีไทย..อยู่รอด ประเทศไทย…อยู่ได้’

เอสเอ็มอีเสนอแนวทางแก้ปัญหา

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ทางสมาพันธ์มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยโดยเห็นว่า

1.การทบทวนอัตราภาษีนำเข้า FTA รายกลุ่มสินค้าที่ไทยเสียเปรียบ
2.การบังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจการค้ากับนักธุรกิจจีนหรือนอมินี ให้ทำการค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3.การส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทยลดการนำเข้าจากจีน เน้น เศรษฐกิจพึ่งพาตนเองผลิตเองใช้เองส่งออกส่วนเกิน
4.เจรจาเชิงรุกกับจีนในการทำธุรกิจ สินค้า บริการ การท่องเที่ยว ในกลุ่มสร้างสรรค์และที่ต้องการของจีนเข้าไปทำตลาดในมณฑลพื้นที่ต่างๆของจีน ผ่านทูตพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และกระทรวงการต่างประเทศร่วมด้วย

5.การทบทวนบีโอไอในการส่งเสริมการลงทุนจากจีนให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี
6.นำสินค้าไทยเจาะตลาดออนไลน์จีน เพื่อขยายการเติบโตการค้าออนไลน์กับจีนและใช้กฎหมายบังคับธุรกิจออนไลน์ ที่ดำเนินธุรกิจในไทยต้องจดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้อง
7.การลักลอบนำเข้าสินค้าจากจีนที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี และขายออกนอกระบบหรือในระบบแต่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางรายเอื้อประโยชน์
8.การบังคับใช้มาตรฐาน และการกำกับตรวจจับดำเนินคดีให้ถูกต้องตามกฏหมาย
9.จัดตั้งองค์กร PPP ความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เช่น อต. อตก. อคสม. และเอกชน รุกรวมซื้อรวมขายสินค้าเกษตร OTOP SMEs เป็นต้น

และนอกจากนี้ยังต้องมีการช่วยเหลือลดค่าของชีพให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมและดึงแรงงานนอกระบบเข้าระบบ โดยใช้กลไกภาครัฐดึงให้เอกชนรายใหญ่และ SMS เกษตรกร ท้องถิ่น ร่วมกับร้านธงฟ้า ร้านค้าชุมชนและโมเดิร์นเทรด ที่สนใจจัดสินค้าอุปโภคบริโภค เชื้อเพลิง สินค้าจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต โดยกำหนดเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า 500-1,000 บาทต่อเดือน โดยใช้ระบบแอพเป๋าตัง เพื่อช่วยในการรับสิทธิจะทำให้ภาพรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณอุดหนุนแต่ให้เอกชนแต่ละท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น