เปิดกลยุทธ์ลงทุน “หุ้น-บอนด์” เดือน พ.ค. เอเซียพลัส เชื่อ BUY IN MAY

หุ้น

เปิดกลยุทธ์ลงทุน “หุ้น-บอนด์” เดือน พ.ค. 2567 บล.เอเซีย พลัส เชื่อ จาก BOTTOM OUT สู่ BUY IN MAY

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า กลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค. 2567 แนะนำคงน้ำหนักพอร์ตหุ้นไทย 30% ของพอร์ต (Neutral) โดยมองกรอบการ
เคลื่อนไหวของ SET Index เดือน พ.ค. ไว้ที่ 1,330-1,430 จุด โดย SET Index ที่ย่อตัวลงมาอยู่ในโซนน่าสะสม และยังมีอัพไซด์เหลือพอสมควร ปี 2567 น่าจะเป็นจุดหาหุ้นเพิ่มน้ำหนักในพอร์ต กลยุทธ์แนะนำหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง กำไรฟื้นตัว ได้รับแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ อย่าง CPALL, KBANK, SJWD, CK, WHA, CPF

การลงทุนต่างประเทศ

ประเด็นธนาคารกลางต่าง ๆ อาจคงดอกเบี้ยนโยบายนานขึ้น แต่ตลาดคาดจะปรับลดในช่วงปลายไตรมาส 3/2567 ส่วนตอนนี้เข้าสู่ฤดูกาลประกาศงบฯงวดไตรมาส 1/2567 ของหุ้นสหรัฐ ซึ่งข้อมูลล่าสุดประกาศมาแล้ว 154 บริษัท ดีกว่าตลาดคาด 9% ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังเติบโตราว 3% มอง
ให้ความเสี่ยงต่อการเกิด Recession ลดลง ตามลำดับ

ฝ่ายวิจัยคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศไว้ที่ 30% ของพอร์ตการลงทุน (Neutral) โดยกลยุทธ์เน้นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งและธุรกิจมีการเติบโตอิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตเป็นหลักอย่าง TSMC (TSM US) และ Novo Nordisk (NVO US)

ตราสารหนี้

สัญญาณโฟลว์ต่างชาติทยอยไหลออกจากตราสารหนี้ราว 2.9 หมื่นล้านบาท (เดือน เม.ย. 2567) ไหลออกต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ของตราสารหนี้ไทยขยับขึ้นเกือบทุกช่วงอายุ ส่งสัญญาณว่าการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจชะลอออกไป และเกิดขึ้นจริงช่วงต้นปี 2568 เว้นแต่ตัวเลขเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอตัว

Advertisment

กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้อยู่ที่ 25% ของพอร์ตรวม (มากกว่าตลาดอ้างอิง) เน้นชื่อผู้ออกที่เป็นที่รู้จัก Top picks คือ CPALL266A, TPIPP267A, BANPU269A

แนะนำจัดสรรพอร์ตลงทุน

  • หุ้นต่างประเทศ 30%
  • หุ้นไทย 30%
  • ตราสารหนี้ 25%
  • ตราสารอื่น ๆ 10%
  • ตลาดเงิน 5%

จาก BOTTOM OUT สู่ BUY IN MAY

  • ตลาดหุ้นไทยตอบรับความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์จนอัพไซด์เปิดกว้าง เป้าหมายที่ 1,580 จุด
  • นโยบายการเงินรอก่อน แต่นโยบายการคลังพร้อม บวกกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นขั้นบันได
  • ความเชื่อมั่นเพิ่ม รอฟันด์โฟลว์สลับมาซื้อ
  • แนะนำหุ้นพื้นฐาน กำไรฟื้น ได้แรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ อย่าง CPALL, KBANK, SJWD, CK, WHA, CPF

ฝ่ายวิจัยประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค. มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุด และเริ่มเห็นหลายปัจจัยช่วยพยุงเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายการคลังที่เข้มข้นผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ภายในช่วงเวลาเพียง 5-6 เดือน ด้วยมูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9.3% รวมถึงมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, ฟรีค่าธรรมเนียม VISA สำหรับนักท่องเที่ยว และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในระยะถัดไป

ต่อมาแม้ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐอาจจะคงไว้ 5.5% ยาวนานขึ้น หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาด จากประเด็นสงครามตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ แต่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงน่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้

นอกจากนี้ยังมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของตลาดหุ้นไทย คอยหนุนปริมาณการซื้อขายจะค่อย ๆ กลับมา หลังทางการออกมาตรการควบคุม Short Sell คาดเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567 หวังหนุน Turnover ของ SET มีโอกาสกลับมาสูงกว่า 70% ต่อปี

Advertisment

ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม การรายงาน GDP ไทยงวดไตรมาส 1/2567 ตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 0.6% QOQ หลบความเสี่ยง Technical Recession ได้ และมีโอกาสฟื้นขึ้นเป็นขั้นบันใด ส่วนทางเศรษฐกิจโลกที่ทยอยย่อตัวลง อีกทั้งต้องติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. และเฟดจะเป็นทิศทางอย่างไร ก่อนการประชุมช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2567

ในมุมตลาดหุ้นไทยมีความน่าลงทุนมากขึ้น คือ 1. มุมกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1/2567 ที่มีโอกาสเติบโต QOQ เด่นจากฐานกำไรงวดไตรมาส 4/2566 ที่ต่ำกว่าปกติ พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหนุน หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงกว่า 7% ในช่วงไตรมาส 1 ซึ่งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่ามีสัดส่วนมาร์เก็ตแคปกว่า 40% รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นแรงเกิน 15% นับจากต้นปี (YTD) หนุนให้เกิด Stock Gain ในหุ้น Commodity ที่มีสัดส่วนหลักในตลาด

2. มุม Valuation SET จะเห็นแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1,350 จุด โดย SET ที่ระดับ 1,350 จุด มี PER67F ที่ 14.7 เท่า (-1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.31 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี)

อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่ส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้กับหุ้นกว้างมาก โดยมี MEYG ที่ 4.25% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต) หนุนให้เม็ดเงินมีโอกาสทยอยไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป ขณะเดียวกัน SET Index ยังมีอัพไซด์จากดัชนีเป้าหมายที่ 1,580 จุด อยู่พอสมควร กลยุทธ์การลงทุน เดือน พ.ค. แนะนำหุ้นพื้นฐาน กำไรฟื้น ได้แรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ อย่าง CPALL, KBANK, SJWD, CK, WHA, CPF

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ เปราะบาง แต่ไม่แตกหัก

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่อิหร่าน โจมตีโดยตรงเข้าไปที่อิสราเอล จนมีนายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิต 7 ราย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ส่งผลให้เวลาต่อมา (14 เม.ย. 2567) อิหร่านได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยยิงโดรนและขีปนาวุธราว 300 ลูก ไปยังพื้นที่ทางทหารในประเทศอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม แม้เกิดความเสียหายจะจำกัด แต่สงครามของอิสราเอลอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะตอบโต้อิหร่านในรูปแบบใดต่อไป ซึ่งสภาวะดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อความรุนแรง และโอกาสที่สงครามจะขยายวง จึงต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ผลพวงที่ตามมา กรณีความขัดแย้งทวีความรุนแรงและขยายวงกว้าง อาจกระทบต่อหลายภาคส่วน เริ่มจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน เสี่ยงผลักให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เฉลี่ยล่าสุดเดือน เม.ย. 2567 พุ่งขึ้นเหนือ 84.6 เหรียญ/บาร์เรล สูงกว่าปีก่อนราว 7.7% YOY ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับองค์ประกอบเงินเฟ้อจากหมวดพลังงานในสหรัฐ มีสัดส่วนราว 6.8% ขณะที่ไทยมีสัดส่วนราว 12.4% อย่างไรก็ดี ต้นทุนราคาพลังงานที่เร่งตัว อาจส่งผ่านไปยังหมวดสินค้าอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ถือเป็นแรงผลักให้เงินเฟ้อขยับขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังช่วงระยะเวลาการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่มีโอกาสถูกเลื่อนออกไป

ท้ายที่สุดแล้วหากสงครามบานปลาย คงหนีไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่ (MACRO ECONOMY) ซึ่งหากย้อนไปช่วงเกิดสงครามรัสซีย-ยูเครนในไตรมาส 2/2565 กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP GROWTH) หดตัว -0.9% YOY ส่วนเศรษฐกิจไทยโตแค่ +2.4% YOY รวมถึงช่วงเกิดสงครามอิสเอล-ฮามาสในไตรมาส 4/2566 กดดัน GDP GROWTH โลกและไทย ขยายตัวได้พียง 2.7% YOY และ 1.7% YOY ตามลำดับ

วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงมาช้า แต่ก็ต้องมา

ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน มี.ค. 2567 ขยายตัว 3.5% YOY (+0.4% MOM) สูงกว่าคาดที่ 3.4% YOY และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 3.2% YOY ส่วน CORE CPI ขยายตัว 3.8% สูงกว่าคาดที่ 3.7% เช่นกัน

ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อในระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่จะขยับขึ้น จากความไม่แน่นอนเชิงภูมิรัฐสาตร์ที่อาจทวีความรุนแรงอีกครั้ง จนกระทบกับกำลังการผลิตน้ำมันหรือ SUPPLY SIDE และกดดันให้ปัญหาเงินเฟ้อความคุมได้ยากขึ้น เสี่ยงมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% ได้ช้าลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนาน

ปัจจุบัน CME FED WATCH TOOL ปรับมุมมองโดยคาดจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ก.ย. 2567 โดยให้น้ำหนักอยู่ที่ 44.5% และในปี 2567 คาดลดดอกเบี้ยเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งต่างจากช่วงต้นเดือนที่คาดจะลดดอกเบี้ยตั้งแต่ มิ.ย. 2567 และลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้ง ขณะที่ DOT PLOT เมื่อ มี.ค. 2567 คาดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง

ภาวะดังกล่าวหนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณสะท้อนความคาดหวังของตลาดการเงินว่าอาจเห็นเฟดยืนดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง 5.5% นานกว่าคาด

อีกแง่มุมหนึ่งในฝั่งยุโรปมีสัญญาณเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. 2567 ที่ชะลอตัวชัดเจนเหลือ +2.4% YOY ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด 2.5% YOY และเดือนก่อนที่ 2.6% YOY อีกทั้งยังเป็นระดับที่เข้าใกล้กรอบเป้าหมาย 2% มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของ GDP GROWTH ของยุโรป ซึ่งในไตรมาส 1/2566 Consensus ประเมินว่าจะโตแค่ 0.2% YOY ถือเป็นปัจจัยบวกหนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในวันที่ 6 มิ.ย. 2567

โดยสรุปด้วยบริบทของ ECB และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ควบคุมเงินเฟ้อในยุโรปและอังกฤษได้ค่อนข้างดี ทยอยลดลงจนอยู่ในระดับที่เข้าใกล้ 2% เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนุนให้ ECB และ BOE เริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงเร็วกว่าเฟด โดย BLOOMBEG CONSENSUS คาดการณ์ว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 2567 ตามมาด้วย BOE ที่จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. 2567 และสุดท้ายมองว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. 2567

เศรษฐกิจไทยเติบโตเป็นขั้นบันได

หลายสำนักเศรษฐกิจทยอยปรับประมาณการ GDP GROWTH ของไทยปีนี้ลง ที่บริเวณ 2.4-2.8% (เดิมคาดราว 3.2%) โดยล่าสุด สศค. ปรับลดปรับประมาณการ GDP GROWTH ของไทยในปี 2567 เติบโตแค่ 2.4% YOY (ค่ากลางช่วง 1.9-2.9%) ซึ่งลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% YOY

โดยมีแรงกดดันมาจากการส่งออกไทยในไตรมาส 1/2567 ปรับตัวลดลงราว -0.2% YOY ซึ่งหดตัว
มากกว่าคาดการณ์ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุตสาหกรรม บวกกับภาคการผลิตชะลอตัว นอกจากนี้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าจากปัจจัยภายนอกประเทศ คือ วิกฤตการณ์ในยูเครนและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กาซา

และปัจจัยภายในประเทศ คือ ความล่าช้าของการเบิกจ่ายภาครัฐ และจีดีพีไตรมาส 4/66 ที่ออกมา -0.66% QOQ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด TECHNICAL RECESSION (GDP GROWTH QOQ ติดลบต่อกัน 2 ไตรมาส)

ภาวะดังกล่าว สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทย ต้องการแรงกระตุ้นทั้งในส่วนของนโยบายการคลังที่เข้มข้น และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อหลีกหนีจากภาวะชะลอตัว ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายไตรมาส จะเห็นได้ว่า GDP GROWTH มีโอกาสเติบโตเป็นขั้นบันได และมีความเสี่ยงน้อยที่ GDP จะติดลบ QOQ โดย BLOOMBERG คาด GDP ไตรมาส 1/2567 +0.6% QOQ +1.4% YOY

ขณะที่ระยะถัดไปช่วงไตรมาส 2-4 ปีนี้ จะเติบโต 2.0% YOY, 2.8% YOY และ 3.9% YOY ตามลำดับ ทั้งนี้ต้องติดตามแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่าง ดิจิทัลวอลเลต ที่อาจเพิ่มอัพไซด์ของประมาณการ GDP ไทยปี 2567 ได้เป็นราว 3.5-4% YOY

อย่างไรก็ดี บทบาทของนโยบายการคลังที่ทยอยเดินหน้า เชื่อว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2-4 ปีนี้ ขณะที่เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย คงต้องเน้นการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคครัวเรือน รวมถึงการลงทุน

ซึ่งฝ่ายวิจัยจะจำแนกรายละเอียดดังนี้ 1. การใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567
วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท และอนุมัติกรอบงบประมาณปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้กำหนดรายจ่ายลงทุนไว้ที่ 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาเร่งเบิกจ่ายเพียงแค่ 5 เดือน

ทั้งนี้หากพิจารณาถึงความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปี 2567-2568 รวมระยะเวลา 17 เดือน น่าจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่ภาคการลงทุนค่อนข้างสูงราว 1.63 ล้านล้านบาท (เฉลี่ยราว 1 แสนล้านบาท/เดือน) เชื่อว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ของภาครัฐ จะถูกเร่งดำเนินการ ถือเป็นเซนติเมนต์เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง อาทิ SCC, SCCC TASCO, STEC, CK เป็นต้น