กพย.เห็นชอบ 17 เป้าหมายพัฒนายั่งยืน 3 ระยะ-3กลุ่มพื้นที่ สอดคล้องยุทธศาสตร์ 20ปี

กพย.เห็นชอบโรดแมปขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นายกฯรับทราบยูเอ็นขยับอันดับการพัฒนาไทยอย่างยั่งยืนไทยจาก 61 เป็น 55

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมประชุม

ซึ่งที่ประชุมมีมติที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ เห็นชอบกับโรดแมปการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายประกอบด้วยแนวทางดำเนินงานในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ และเห็นชอบกับแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ จัดพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อนให้ชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกมีความเหลื่อมล้ำมากและยังขาดความพร้อม กลุ่มที่สองมีศักยภาพ และกลุ่มที่สามที่มความเข้มแข็งและขยายผลได้เพื่อสร้างการรับรู้ หลักคิด เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รวมถึงเห็นชอบกับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะ ได้แก่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยต้องรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานต่อกพย. ทุก 6 เดือน และรับทราบผลการดำเนินงานตามมติกพย. ครั้งที่ 1/2559 รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ แผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนปี 2560-2579 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรายงานการทบทวนผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030โดยสมัครใจของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นเอกสารประกอบการประชุม High Level Political Forum 2017 on Sustainable Development ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงวันที่ 18-20 กรกฎาคม ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 44 ประเทศที่เข้าร่วมการรายงานผลการดำเนินงานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปี 2560 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดอันดับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจี) ให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 150 กว่าประเทศ ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2559 ที่อยู่ในอันดับที่ 61

 

ที่มา มติชนออนไลน์