ศาลแพ่งสั่ง”หมอระวี-3 กคป.ชดใช้ปตท. 9.7 ล้าน บุกปิดอาคาร”ชัตดาวน์กรุงเทพ”ปี 57

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม คดีที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอิทธิบูรณ์ อ้นวงษา, นายทศพล แก้วทิมา, นายระวี มาศฉมาดล และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กลุ่มแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานกระทำละเมิด เรียกค่าเสียหายจากกรณีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำผู้ชุมนุมบุกรุกบริเวณพื้นที่ของอาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ พื้นที่ต่อเนื่องจากาคารสำนักงานใหญ่ของ บริษัท ปตท. โจทก์ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าครอบครองพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 ต่อเนื่องตลอดมา ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าใช้อาคารและพื้นที่ทั้งหมดในสำนักงานใหญ่ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องปิดอาคารสำนักงานใหญ่ ทำให้ได้รับความเสียหายและขาดรายได้จากการประกอบกิจการ จึงขอให้ร่วมกันชดใช้เงิน 15,920,737.54 บาท และชดใช้เงินค่าขาดรายได้วันละ 123,160.83 บาท กับชดใช้เงินต้นทุนที่เพิ่มขึ้นวันละ 280,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่ หยุดทำการละเมิด

จำเลยทั้งสี่ ให้การว่าจำเลยทั้งสี่เข้าไปร่วมชุมนุมโดยชอบ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ

ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายอิทธิบูรณ์ จำเลยที่ 1 และนายสมเกียรติ จำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์ชุมนุมโดยขึ้นเวทีปราศรัยและเป็นตัวแทนเข้าร่วมในการเจรจา ทั้งยังมีพฤติการณ์ร่วมกับ นายทศพล จำเลยที่ 2 และนายระวี ที่ 3 เป็นแกนนำเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชน บุกรุกเข้าไปในบริเวณพื้นที่อาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของกระทรวงพลังงานโดยเมื่อมีพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ของ บริษัท ปตท.โจทก์ โดยไม่มีรั้วกั้น แล้วต่อมาได้เคลื่อนย้ายเข้าไปในพื้นที่ของอาคารสำนักงานใหญ่ของโจทก์ มีการใช้อุปกรณ์ตัดเชื่อม ตัดโซ่เหล็กที่คล้องประตูและตัดแผ่นเหล็กที่โจทก์ได้เชื่อมประตูเหล็กทั้งสองบ้านขาด ออกจากกัน ใช้บันไดพาดและปีนเข้ามาในพื้นที่สำนักงานใหญ่ และยังนำกระสอบทรายและยางรถยนตร์มา สร้างเป็นแนวป้องกันโดยรอบบริเวณพื้นที่ชุมนุมและบนพื้นผิวจราจรถนนวิภาวดี-รังสิตด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ตลอดแนวมีการจัดตั้งเวทีปราศรัยขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง, เครื่องปั่นไฟ, ติดตั้งเต็นท์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมทั้งจัดแสดงดนตรีและกิจกรรมต่างๆ โดยเครื่องขยายเสียงส่งเสียงดังรบกวนอย่างต่อเนื่อง

โดยการกระทำของจำเลยทั้งสี่และผู้ชุมนุมเป็นผลให้พนักงานของโจทก์และประชาชนไม่สามารถหรือไม่สะดวกในการเข้าใช้อาคาร และพื้นที่ทั้งหมดของโจทก์เพื่อประกอบการงานตามปกติของโจทก์ได้ จึงเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการรบกวนการครอบครองอาคารสำนักงานของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การชุมนุมของจำเลยทั้งสี่และผู้ชุมนุม จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 ที่บัญญัติว่า “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลนั้นท่านว่าย่อมเป็นการอันมิชอบด้วยกฏหมาย” ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการร่วมกัน กระทำละเมิดต่อโจทก์

ศาลแพ่งจึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็น แกนนำ กคป. ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 9,714,480 บาท

Advertisment

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีแพ่งนี้ เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งตามกฎหมาย คู่ความยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

อย่างไรก็ดีคดีนี้ นับเป็นสำนวนที่ 2 แล้วที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ แกนนำกคป.ชดใช้ค่าเสียหายจากการชุมนุมปิดล้อมและเข้าไปในอาคารกระทรววพลังงาน โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง มีคำพิพากษา ในคดีที่ บริษัท เอนเนอร์ยีคอมเพล็กซ์ จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา, นายทศพล และนพ.ระวีแกนนำ กคป., นายสมเกียรติ และนายธวัชชัย พรหมจันทร์ แกนนำ กคป. เป็นจำเลยที่ 1-5 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 118,930,051.44 บาท ศาลแพ่งวินิจฉัยไว้เช่นกันว่า การกระทำของแกนนำกคป. จำเลยเป็นการใช้สิทธิอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ พนักงานของโจทก์ และประชาชนผู้มาติดต่อ รวมทั้งผู้เช่าพื้นที่ในอาคารของโจทก์ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ต้องขาดรายได้ที่เป็นค่าเช่า, ค่าบริการพื้นที่, ค่าตลาดนัด, รายได้จากค่าบริการที่จอดรถ, ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเช่าที่อื่นเป็นสำนักงานชั่วคราว และค่าเสียหายอื่นๆ อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งห้า จึงให้ร่วมกันชดใช้เป็นเงินทั้งสิ้น 95,923,547.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องที่ 12 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

ขณะที่ปัจจุบัน จำเลยทั้งห้าและผู้ชุมนุม ได้รื้อถอนสิ่งต่างๆ ออกจากพื้นที่การครอบครองของโจทก์แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสั่งห้ามจำเลยทั้งห้าและผู้ร่วมชุมนุมเข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่ของโจทก์อีก และสำหรับค่าเสียหายรายวันนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าและกลุ่มผู้ชุมนุมมีการบุกรุกเข้ายึดถือการครอบครองพื้นที่ของโจทก์นับแต่วันฟ้องที่ 12 มีนาคม 2557 อีก ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้

ส่วนคดีอาญาในการดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุม กคป.จากเหตุเดียวกันนี้ในช่วงเดียวกับที่มีการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ หรือยุทธการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของกลุ่ม กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั้น ก็ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาลอาญา

Advertisment

 

ที่มา : มติชนออนไลน์