งบฯปี’63 สะดุด ฉุดเศรษฐกิจติดบ่วง

บทบรรณาธิการ

 

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2563 ส่อเค้าว่าอาจมิชอบด้วยกฎหมาย กรณี ส.ส.บางรายเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน เป็นปัญหาที่กระทบต่อเนื่องทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง

แม้ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า สถานะของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ถูกท้วงติงว่าอาจมิชอบด้วยกฎหมาย หรือโมฆะ จะมีแนวทางใดแก้ แต่ในความเห็นของผู้รู้ กูรูกฎหมายชี้ไปในทำนองเดียวกันว่า แนวทางที่น่าจะยุติได้คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด ซึ่งอย่างเร็วสุดกระบวนการขั้นตอนต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือนนับจากนี้ไป

หลังนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขั้นตอนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 การดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ จะแล้วเสร็จ จากนั้นกฎหมายงบประมาณฯ จึงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้จากเดิมที่ล่าช้ากว่าปกติ 4 เดือน โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน มี.ค. 2563 ต้องยืดระยะเวลาออกไปอีก 2 เดือน เท่ากับงบฯ รายจ่ายปีนี้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ออกมาล่าช้าเป็นประวัติการณ์ เหลือระยะเวลาในการเบิกจ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ลงทุนเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น

Advertisment

ส่งผลกระทบทำให้การลงทุนโครงการใหม่ ๆ การลงทุนโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณผูกพันวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตลอดจนการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลไม่สามารถทำได้ภายในเงื่อนเวลาที่มีจำกัด

ฉุดเครื่องยนต์หลักการลงทุนภาครัฐที่ถูกคาดหวังจากหลายฝ่ายว่าจะเป็นตัวช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อน ในช่วงที่การลงทุนภาคเอกชน การบริโภค และภาคการส่งออก ยังชะลอตัวไม่กระเตื้อง มีอันต้องสะดุดหยุดลงอีกเครื่องยนต์หนึ่ง

Advertisment

ผลพวงจากการกระทำที่ไม่มีความรับผิดชอบของนักการเมืองบางคน สวนทางกับคำมั่น และการประกาศจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายการเมืองทั้งในสายตาคนไทย นักลงทุนต่างชาติ

แต่เมื่อไม่สามารถหมุนเวลาย้อนหลัง ฝ่ายการเมืองในรัฐสภา รัฐบาล ต้องดำเนินการทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหา ภายใต้กฎกติกาในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ต้องถอดบทเรียนความผิดพลาดครั้งใหญ่ ป้องกันไม่ให้กระบวนการออกกฎหมายมีปัญหาซ้ำ จากการไม่รู้หน้าที่ ไม่มีความรับผิดชอบ