หนี้สาธารณะขาขึ้น! ปิดสิ้นปีงบประมาณ 2563 จ่อทะลุ 50% ของ GDP

ส่องแนวโน้มหนี้สาธารณะขาขึ้น! ปิดสิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 49.35% ของ GDP แล้ว ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลวางแผนก่อหนี้ใหม่อีกกว่า 1.4 ล้านล้านบาท คาดดันหนี้สาธารณะสิ้นปีใกล้แตะ 60%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า จนถึง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 (30 ก.ย.2563) ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 7,848,155.88 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49.35% ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ที่ประมาณการอยู่ที่ 15,901,591.50 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้รัฐบาลอยู่ที่ 6,734,881.76 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 795,980.29 ล้านบาท หนี้รัฐวิสหากิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน 309,472.36 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานของรัฐอื่น ๆอีก 7,821.47 ล้านบาท

ทั้งนี้ หนี้ของรัฐบาล 6,734,881.76 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 5,991,843.55 ล้านบาท และ หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 743,038.21 ล้านบาท

โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง ก้อนใหญ่ที่สุด เงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการบริหารหนี้ 4,915,543.32 ล้านบาท รองลงมาคือ เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 355,472 ล้านบาท และ เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. COVID-19 จำนวน 335,726.05 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้คงค้างสูงที่สุด ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นหนี้ในประเทศ 181,766.70 ล้านบาท และ หนี้ต่างประเทศ 337.70 ล้านบาท รองลงมาคือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นหนี้ในประเทศ 116,844.85 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นหนี้ต่างประเทศ 31,191.69 ล้านบาท

ขณะที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหนี้ในประเทศ 27,743 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นหนี้ในประเทศ 11,700 ล้านบาท การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหนี้ในประเทศ 9,955.32 ล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นหนี้ในประเทศ 9,823 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-ก.ย.2563) ที่ผ่านมา พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

              • ตุลาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 40.9%
              • พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ระดับ 41.22%
              • ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 41.21%
              • มกราคม 2563 อยู่ที่ระดับ 41.45%
              • กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ระดับ 41.74%
              • มีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 41.73%
              • เมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 43.24%
              • พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 44.71%
              • มิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 45.83%
              • กรกฎาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 47.04%
              • สิงหาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 47.90%
              • กันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 49.35%

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนบริหารหนี้ โดยมีวงเงินก่อหนี้ใหม่ 1,465,438.61 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,237,446.80 ล้านาท และ แผนการชำระหนี้ วงเงิน 387,354.84 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ก้อนใหญ่ในปีนี้ จะเป็นแผนการกู้เงินเพื่อแก้ไข เยียวยา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตาม พ.ร.ก. โควิด-19 จำนวน 450,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลประเมินว่า จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ (30 ก.ย.2564) ขึ้นไปอยู่ที่ 57.23% ยังอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ จะขึ้นไปอยู่ที่ 28.59% ยังอยู่ภายใต้กรอบในการดำเนินงานที่มีเพดานที่ 35%