รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนปีงบ’64 ตามเป้า สคร. ลั่นปีงบ’65 ต้องไม่ต่ำ 95%

ปานทิพย์ ศรีพิมล
ปานทิพย์ ศรีพิมล อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายสิ้นปีงบ 2564 ตามเป้า สูงกว่าปีก่อนหน้า 4.4 หมื่นล้านบาท พร้อมติดตามเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบ 2565 จำนวน 3.14 ล้านบาท ให้ไม่ต่ำกว่า 95% ของกรอบวงเงิน รฟท.-การท่าอากาศยาน-การท่าเรือฯ เบิกช้าสุด

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2565 แล้ว

โดยรัฐวิสาหกิจที่ สคร. กำกับดูแล 43 แห่ง มีวงเงินลงทุน จำนวน 314,486 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ จำนวน 167,317 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน จำนวน 147,169 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ มีเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน ซึ่ง สคร. ได้เตรียมความพร้อมในการติดตามรัฐวิสาหกิจให้เร่งจัดทำแผนการเบิกจ่ายที่สอดคล้องกับวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว

รัฐวิสาหกิจ
ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนประจำปี 2564 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

ปี64 เบิกจ่ายลงทุน 92% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 4.4 หมื่นล้าน

ขณะที่การติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2564 ตามปกติ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 260,609 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม

“แม้ว่ารัฐวิสาหกิจจะประสบปัญหาจากการประกาศปิดไซต์งานก่อสร้างและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สคร. ได้มีการกำกับและติดตามความคืบหน้าและสภาพปัญหาในการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องและได้มีการเข้าพบรัฐวิสาหกิจเพื่อผลักดันการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย”

ส่งผลทำให้ในภาพรวมรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ซึ่งสิ้นสุดการดำเนินการปี 2564 แล้ว มีประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบลงทุนสูงขึ้น รวมถึงสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมได้สูงกว่าปี 2563 จำนวน 44,682 ล้านบาท

ด้านนางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่าย
งบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ซึ่งสิ้นสุดการดำเนินการแล้ว
จำนวน 34 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 145,465 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของกรอบลงทุนทั้งปี
และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2564) จำนวน 9 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 115,145 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม

โครงการ รฟท.-การท่าอากาศยาน-การท่าเรือฯ เบิกจ่ายล่าช้า

อย่างไรก็ดี สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผนหรือสูงกว่าแผน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของ รฟม. โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ – รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของ กฟน. งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค และโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของ กฟผ.

ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ของ รฟท. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) และโครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย