ค่าแรงในสถานการณ์แรง

บทบรรณาธิการ

แม้ข้อเสนอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2565 จากกระทรวงแรงงานที่ผ่านการเจรจาต่อรองจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ขยับวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเป็นสัปดาห์หน้า แต่ทุกฝ่ายรับทราบถึงค่าเฉลี่ยที่จะขึ้น 5.02% โดยแบ่งเป็น 9 อัตราตามพื้นที่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาแล้ว

การขึ้นค่าแรงถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเป็นโจทย์ยากสำหรับการดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงกระทบต่อนายจ้างกับลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่จะส่งผลต่อผู้คนในภาคธุรกิจอื่น ๆ ทั้งหมด ไม่ว่ามนุษย์เงินเดือน เอาต์ซอร์ซ ฟรีแลนซ์ ฯลฯ เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็น 328-354 บาท ตามพื้นที่ อัตรานี้จะขยับเข้าไปใกล้กับค่าจ้างกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งต้องปรับค่าจ้างเพิ่มตามไปเป็นลูกโซ่

ความจำเป็นที่ต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงปลายปีนี้แทนที่จะเป็นต้นปีหน้า มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ทุกคนทราบดีว่าเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น

โดยเฉพาะมีการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที งวดใหม่เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เพิ่ม 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ทำให้ภาคเอกชนเตรียมปรับราคาสินค้าภายในปี 2565 ขึ้น 10%

ปัจจัยทั้งหมดจึงล้วนดันต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดส่งออก เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน อัตราค่าจ้างแรงงานไทยอยู่ในลำดับที่ 5 ต่ำกว่าสิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่สูงกว่ามาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ลาว และเมียนมา

ส่วนผลสำรวจค่าครองชีพที่เปรียบเทียบกลุ่มเมืองใหญ่ กรุงเทพฯสูงเป็นลำดับที่สอง รองจากสิงคโปร์ เมื่อบวกกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 16 ปี จึงเป็นเรื่องมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่า ผู้มีรายได้น้อยอยู่ลำบากอย่างไรในสถานการณ์นี้

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน เป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง หลังจากกระอักต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดและผลกระทบจากสงครามที่ดันให้ราคาพลังงานทะยานขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่การบริโภคชะลอตัว และหนี้เรื้อรังที่มีอยู่เดิมยังไม่มีทางออก

แม้หน่วยงานของรัฐจะมีมาตรการออกมาช่วยพยุงเป็นหย่อม ๆ แล้ว แต่เมื่อสถานการณ์แรงเช่นนี้ ควรจะต้องจัดระบบความช่วยเหลืออย่างเป็นกระบวนการ เข้มแข็งและจริงจังมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าแรงแล้วจบ