พรรคใหม่-ไพร่หมื่นล้าน

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย อิศรินทร์ หนูเมือง

ถ้ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ไม่ถูกคว่ำทั้งฉบับ ถ้ามีการเลือกตั้งต้นปี 2562 ตามโรดแมปที่ขยับมาแล้ว 4 ครั้ง

จะมีพรรคการเมืองใหม่ ลงสนามอย่างน้อย 3 พรรค

จากบรรดา 69 พรรคเก่าที่จดทะเบียนไว้แล้ว กับ 114 กลุ่มการเมือง ที่จ้องจะลงสนาม

ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ กกต.จะเปิดให้จดทะเบียนพรรคการเมือง

3 พรรคนี้จะมีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง สะเทือนต่อการจัดตั้งรัฐบาล และเขย่าขวัญพรรคการเมืองเก่า

พรรคหนึ่ง-ร่างเงาเก่า ควบรวมกลุ่ม ส.ส.มุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ “กลุ่มวาดะห์” ผนวกนักการเมืองมุสลิมใหม่ เป็นหนึ่งเดียว ในนาม “พรรคมุสลิม” มีอดีตนายตำรวจ “กำกับคดีพิเศษ” ที่คุ้นเคย-คลุกคลีพื้นที่ ระดับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ เป็น “หัวขบวน”

พรรคนี้ต่อสาย-เป็นเครือข่าย “พรรคลูก” ของทีม “ทักษิณ” และเพื่อไทย

ก่อนที่จะถูกรวมห่อเป็นลูกข่าย “ทักษิณ” เคยถูกเสนอซื้อแบบ “บิ๊กลอต” จากพรรคที่ “ภูมิใจ” ในเศรษฐีหนุ่มนักบิน-ใจบุญ กับอดีตรัฐมนตรีคู่หู-จอมพลิกขั้ว “เจ้าพ่อคอนเน็กชั่น” มาแล้ว

พรรคแรกนี้ตั้งเป้า ส.ส. 15 ที่นั่ง ชื่อ “พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง” มีคนจ้องจับมือเป็นพันธมิตร

พรรคที่สอง เป็นพรรค “เพื่อทหารใหม่” ผนวกพรรคพวกรัฐมนตรีหนุ่มจากทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. นักธุรกิจใหญ่ เข้าถึง “อำมาตย์ใหม่” ควบรวมกลุ่มทายาทเศรษฐีเป็นแนวพรรค “ประชารัฐ-S-curve” มีแบ็กอัพระดับนายทุนหลักหมื่นล้าน

ชื่อ “ดร.อุตตม สาวนายน” ถูกโยนลอยขึ้นมาเป็น “หัว”

พรรคนี้มีความพร้อมด้านทุนสูง แต่ตัวผู้สมัครยังคงรูปมวย “ถีบ ๆ ถอย ๆ”

พรรคที่สาม สด-ใหม่ เร้าใจและน่าตื่นเต้น ตั้งแต่ชื่อ-ชั้นผู้ร่วมทีมก่อตั้ง

พรรคนี้มีจุดร่วมจากแนวคิด สังคมนิยมประชาธิปไตย-Social Democracy ผสมผสานกับแนวคิด new left-พรรคซ้ายใหม่ในยุโรป แกนนำเป็นคนรุ่นใหม่-หัวก้าวหน้า มีไอเดียธุรกิจและการบริหาร อายุเฉลี่ย 35-45 ปี

พรรคแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งแบบไร้ทางออกมากว่าทศวรรษ

ต้องการทำ “ทุนนิยม” ให้กระจายผลประโยชน์ และผลพลอยได้ให้ทั่วถึงสังคมส่วนรวมมากขึ้น

ตัวอย่างนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ อันดับแรก คือ กระจายโอกาสทางการศึกษา มีแนวโน้มที่จะออกตัวแรงด้วยแคมเปญ “เรียนฟรีถึงปริญญาตรี”

อีกนโยบายที่พรรคนี้ให้ความสำคัญคือ ระบบสวัสดิการสาธารณสุข ที่ทั่วถึงและเป็นธรรม

มีนักธุรกิจหนุ่ม นามสกุลดัง ผู้บริหารเบอร์ 2 ของบริษัท S-curve อุตสาหกรรมยานยนต์ระดับรายได้ 1.1 แสนล้าน อดีตแกนนำนักศึกษา เป็นนักกีฬา ชอบความท้าทาย-รักการผจญภัย สนใจเข้าร่วมในพรรคอุดมการณ์นี้

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการด้านนิติศาสตร์หัวก้าวหน้า 1 ในทีม “นิติราษฎร์” ตอบรับเข้าร่วมคึกคักในโลกโซเชียล

แกนนำความคิดของพรรคนี้เชื่อมั่นว่า เวลานี้สังคมต้องการ “ทางเลือกใหม่” และต้องการเลือก “คนรุ่นใหม่” ที่ไม่ได้อยู่ในเงาของพรรคเก่า

“ตูนโมเดล” คือนิยามของคนหนุ่มรุ่นใหม่ นิสัยดี ถ่อมตน มองโลกในแง่ดี มีความเป็นนักกีฬา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น คือแนวทางหนึ่งในการปั้นผู้สมัคร ส.ส.ซูเปอร์สตาร์

พรรคนี้จะไม่ใช้ “ทุน” ของธุรกิจในกงสีของผู้สมัคร แต่จะใช้ “ต้นทุน” ทางสังคมเป็นตัวชูดีกรีเรียกคะแนน

คำนวณ-คาดการณ์จากตัวผู้สมัคร ที่มีทั้งนักธุรกิจหนุ่ม นักวิชาการแถวหน้า นักเคลื่อนไหวสดใหม่ มีแฟนเพจหลายหมื่นคน บริบทสังคม โลกเปลี่ยน และภูมิทัศน์ใหม่ตั้งเป้าคณิตศาสตร์การเมือง ราว 10-15 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

ถ้าโรดแมปการเลือกตั้งไม่ใช่แค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ

หากการรัฐประหารซ้อน เป็นเพียงลมปาก-คำยุยง ของอำมาตย์แก่

หากไม่มีอุบัติเหตุการเมือง-น้ำผึ้งหยดร้อน จากสารพัดม็อบ

คงได้เห็นคนรุ่นใหม่-ไพร่หมื่นล้าน ลงสนามเลือกตั้ง

ชีวิตนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงคนหนึ่ง กำลังพลิกผัน ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป