เดดไลน์ขึ้นทะเบียนต่างด้าว

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลคืบหน้าตามลำดับ แม้ในทางปฏิบัติยังมีอีกหลายปัญหาต้องแก้ไขเพื่อให้ภารกิจหลักการต้อนแรงงานต่างด้าวเข้าระบบบรรลุผลตามที่วางไว้

ข้อมูลจากบทความของกรมการจัดหางาน ที่ รภัสสา พานิกุล รวบรวมไว้ในหัวข้อเรื่อง “กระทรวงแรงงานเร่งนายจ้างไปตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว ก่อนเข้าศูนย์ OSS ภายในกำหนดฯ” รายงานถึงกระบวนการขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจนได้รับใบอนุญาตทำงาน จึงขอนำสาระสำคัญบางส่วนมาถ่ายทอดต่อ

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 16 ม.ค. 2561 ให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (visa) ขออนุญาตทำงาน ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือทำประกันสุขภาพให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (one stop service-OSS) ที่กระทรวงแรงงานจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด เพื่อให้มีฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติที่ทำงานในประเทศไทยเป็นเอกภาพ ทราบว่าทำงานอยู่ที่ใด นายจ้างรายใด พร้อมทะเบียนประวัติของแรงงาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Advertisment

OSS เปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 ชาติ ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 แรงงานในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ที่พิสูจน์สัญชาติและยังไม่พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งบัตรหมดอายุเมื่อ 1 พ.ย. 2560 กลุ่ม 2 แรงงานที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (กลุ่มใบจับคู่) แบ่งเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้ว และได้รับใบอนุญาตทำงานถึง 31 มี.ค. 2561 และกลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ แค่จับคู่และได้รับผ่อนผันให้ทำงานถึง 31 ธ.ค. 2560 และ

กลุ่ม 3 แรงงานที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งมีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุ 31 มี.ค. 2561 มีทั้งกรณีที่พิสูจน์และไม่พิสูจน์สัญชาติ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

ขั้นตอนบริการภายในศูนย์ ขั้นตอนที่ 1 จุดคัดกรอง ตรวจสอบเอกสาร ให้บัตรคิว ขั้นตอนที่ 2 กรมการปกครองจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ถ่ายรูปใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ ค่าใช้จ่าย 80 บาท ขั้นตอนที่ 3 สำนักตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา (visa) ให้อยู่ในราชอาณาจักร ค่าใช้จ่าย 500 บาท หากแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ ไม่ต้องดำเนินการขั้นตอนนี้

ขั้นตอนที่ 4 กรมการจัดหางานอนุญาตให้ทำงาน แบ่งเป็น กลุ่ม 1 แรงงานประมง ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิ.ย. 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท พิสูจน์สัญชาติแล้ว อนุญาตถึง 1 พ.ย. 2562 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท กลุ่ม 2 ใบจับคู่ ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ อนุญาตถึง 30 มิ.ย. 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท พิสูจน์สัญชาติแล้ว และใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ 30 ธ.ค. 2560 จะอนุญาตถึง 31 มี.ค. 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท กลุ่ม 3 บัตรสีชมพู ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ อนุญาตถึง 30 มิ.ย. 2561 ค่าใช้จ่าย 325 บาท พิสูจน์สัญชาติแล้วอนุญาตถึง 31 มี.ค. 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท

Advertisment

ขั้นตอนที่ 5 สำนักงานประกันสังคมขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้แรงงานต่างด้าว ที่ทำงานในกิจการของนายจ้างที่เข้าประกันสังคม แรงงานต่างด้าวที่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แบ่งเป็น 2 กรณี 1.ทำงานในกิจการที่เข้าประกันสังคมและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ต้องทำประกันสังคมเพื่อคุ้มครองก่อนเกิด

สิทธิประกันสังคม 3 เดือน ค่าใช้จ่าย 500 บาท 2.ทำงานในกิจการที่ไม่เข้าข่ายประกันสังคม (ผู้รับใช้ในบ้าน กิจการประมง) ทำประกันสุขภาพ 3,200 บาท ขั้นตอนที่ 6 ชำระเงินค่าขึ้นทะเบียนประวัติ, ตรวจลงตรา, ค่าใบอนุญาตทำงาน, ค่าประกันสุขภาพ รับบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงาน

แม้แต่ละขั้นตอนอาจยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เวลา และมีค่าใช้จ่าย นายจ้างกับลูกจ้างแรงงานต่างด้าวคงต้องทำใจ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงานในฐานะแม่งาน กรมการปกครอง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ก็ต้องปรับรูปแบบการให้บริการ ภายในศูนย์ OSS ซึ่งจะเปิดทำการถึง 31 มี.ค. 2561 อย่างเต็มกำลัง และมีประสิทธิภาพ เพราะพ้นเส้นตายปลายเดือน มี.ค.นี้แล้ว จะไม่ขยายเวลาให้อีก หากแรงงานต่างด้าวกับนายจ้าง ไม่ใช้โอกาสนี้ขึ้นทะเบียนเข้าระบบให้
ถูกต้อง จะพลาดแล้วพลาดเลย