อ่านแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของไทย

เศรษฐกิจ ประชาชน
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจไทยได้ย่างเข้าไตรมาส 2 ของปี 2566 พร้อมกับอากาศที่ร้อนกว่าทุกปี สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนต่างทำนายว่า GDP ของไทยในปีนี้และปีหน้าจะขยายตัวดีกว่าปี’65 ที่โตเพียง 2.6% บริษัท Consensus Economics ได้รวบรวมประมาณการ GDP ของสำนักวิเคราะห์เอกชน 24 แห่งในเดือนเมษายน พบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% ในปี’66 และ 3.8% ในปี’67 ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการ GDP ล่าสุดในรายงานนโยบายการเงินไตรมาสแรกของ ธปท. ซึ่งอยู่ที่ 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า

อย่างไรก็ดี ประมาณการของนักวิเคราะห์ทั้ง 24 แห่งมีความแตกต่างกัน เช่น GDP ปี’66 มีตั้งแต่ต่ำสุด 2.5% ไปจนถึงสูงสุด 4.5% ความแตกต่างที่อาจบวกลบได้ถึง 1% จากค่าเฉลี่ยนี้ สะท้อนความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ ทั้งด้านต่างประเทศและภายในประเทศ โดยโอกาสที่ GDP จะน้อยกว่าคาด เรียกว่า “ความเสี่ยงด้านต่ำ” (downside risk) และโอกาสที่ GDP จะมากกว่าคาด เรียกว่า “ความเสี่ยงด้านสูง” (upside risk)

สาเหตุที่เรียกทั้งขาต่ำและขาสูงว่าเป็นความเสี่ยง เพราะต่างกระทบต่อการวางแผนในอนาคต เช่น หากธุรกิจคาดว่าเศรษฐกิจจะดี จึงผลิตสินค้าออกมามาก แต่ GDP ต่ำกว่าคาด จะทำให้สินค้าค้างสต๊อก ในทางกลับกัน หากธุรกิจคาดว่าเศรษฐกิจจะแย่ จึงผลิตสินค้าออกมาน้อยเกินไป แต่ GDP สูงกว่าคาด จะทำให้เสียโอกาสในการขาย เป็นต้น

ในระยะข้างหน้า แบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านสูงมากกว่าด้านต่ำ โดยปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าคาด ได้แก่ จำนวนและการใช้จ่ายของ “นักท่องเที่ยว” อาจดีกว่าที่ประเมินไว้ แบงก์ชาติคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 และ 35 ล้านคนในปี’66 และ ’67 ตามลำดับ โดยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากช่วงครึ่งปีหลังที่เป็น high season ของการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณปี’67 อาจไม่ล่าช้าเหมือนที่คาดไว้ หากทางการสามารถดำเนินการพิจารณางบประมาณได้เร็วหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านต่ำยังคงมีอยู่เช่นกัน แม้แบงก์ชาติคาดว่าการส่งออกจะ “หดตัว” ในครึ่งปีแรก และกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด ก็อาจกระทบการส่งออกของไทยได้ หรือค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าที่คาดไว้

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี’66 และ ’67 แบงก์ชาติคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.9% และ 2.4% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาพลังงานและอาหารสดออกไป จะอยู่ที่ 2.4% และ 2.0% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าระดับในอดีตและอาจสูงต่อไปอีกระยะ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงมากกว่าด้านต่ำ จาก (1) การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยยังไม่ได้ส่งผ่านไปให้ผู้บริโภคทั้งหมดในตอนที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเข้มแข็งมากขึ้น ธุรกิจจึงอาจใช้จังหวะนี้ส่งผ่านต้นทุนที่เหลือไปยังผู้บริโภค

การสำรวจโดยแบงก์ชาติในเดือนมีนาคม 2566 พบว่าธุรกิจประมาณ 80% ของที่สำรวจยังคงมีต้นทุนที่อั้นไว้บางส่วน ซึ่งอาจทยอยส่งผ่านในระยะต่อไปได้ (2) แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ จากการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวเร็วและมากกว่าคาด และ (3) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อาจสูงกว่าคาด จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยด้านอุปทานที่ไม่แน่นอน เช่น ในเดือนเมษายน กลุ่ม OPEC+ ได้ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยไม่มีใครคาดไว้ก่อน เป็นต้น

ยังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออีกหลายปัจจัยนอกจากที่กล่าวมา โดยบางเรื่องมีโอกาสเกิดน้อย แต่เมื่อเกิดแล้วส่งผลกระทบได้รุนแรง (นักลงทุนมักเรียกความเสี่ยงชนิดนี้ว่า tail risk) เช่น โรคอุบัติใหม่ที่ระบาดไปได้ทั่วโลกอย่างโควิด-19 ภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งมีโอกาสเกิดบ่อยขึ้นจาก climate change ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบต่อการค้าและราคาวัตถุดิบทั่วโลก เป็นต้น

ภาคเอกชนและผู้กำหนดนโยบายจึงควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการทยอยลดหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน การดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงเสถียรภาพของประเทศในทุกด้าน รวมถึงให้น้ำหนักกับการสร้างความเติบโตในระยะยาว เช่น การสร้างนวัตกรรม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แม้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า เราจึงควรติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปครับ