หลายประเทศในยุโรปหนี้พุ่งแรง รัฐบาลกุมขมับ ลดงบฯไม่ได้ จ่ายต่อก็ไม่ไหว

อังกฤษ สหราชอาณาจักร
กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (ภาพโดย Justin TALLIS / AFP)

หลายประเทศในทวีปยุโรปกำลังเผชิญปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ในช่วง 3 ปีล่าสุดสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงมาแล้วจากระดับเมื่อปี 2020 ที่พุ่งขึ้นสูงปรี๊ด เนื่องจากทุกประเทศต้องเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

แม้ว่ารัฐบาลของบางประเทศที่หนี้สูง ๆ พยายามจะลดการใช้จ่าย และตั้งเป้าลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่ก็ไม่ง่าย และเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลจะต้องเผชิญกับภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” เพราะในขณะที่ต้องการลดการขาดดุลงบประมาณ ก็ยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินนโยบายลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อีกทั้งยังมีภาระผูกพันเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และนโยบายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะควบคุมการขาดดุลงบประมาณด้วยการยกเลิกมาตรการอุดหนุนด้านพลังงาน แต่รัฐบาลของบางประเทศจะเผชิญแรงกดดันจากภาระผูกพันให้ต้องดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนต่อไป และเมื่อบวกกับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้ระดับหนี้ของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า

ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในรายงาน “World Economic Outlook” ฉบับเดือนเมษายน 2024 คาดว่าในปี 2029 หนี้ของเบลเยียมจะเพิ่มเป็น 115.6% ของจีดีพี (ปี 2023 อยู่ที่ 104.5%) หนี้ของฝรั่งเศสจะอยู่ที่ 115.2% ของจีดีพี (ปี 2023 อยู่ที่ 110.6%) หนี้ของอิตาลีจะเพิ่มเป็น 144.9% ของจีดีพี (ปี 2023 อยู่ที่ 137.3%) และหนี้ของสหราชอาณาจักร (UK) จะเพิ่มเป็น 110.1% ของจีดีพี (ปี 2023 อยู่ที่ 101.1%)

รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลงบประมาณลงให้ต่ำกว่า 3% ภายในปี 2027 จากเมื่อปี 2023 อยู่ที่ 5.5% ของจีดีพี แต่หลายสถาบันมองตรงกันว่าเป็นเรื่องยากที่ฝรั่งเศสจะบรรลุเป้าหมาย IMF คาดว่าการขาดดุลงบประมาณของฝรั่งเศสจะยังคงสูงกว่า 4% ต่อไปจนถึงปี 2029 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยูโรโซนตลอดช่วงคาดการณ์

Advertisment

รัฐบาลของบางประเทศกำลังคิดไม่ตกว่าจะเลือกดำเนินนโยบายทางไหน ระหว่าง “ลดการใช้จ่ายของรัฐ” หรือ “ขึ้นภาษี” ยิ่งอยู่ในช่วงการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ และการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรในต้นปีหน้า ก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมีความท้าทายมากขึ้น เพราะนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมจะกดดันให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่าย แต่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต้องการให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่าย ซึ่งมันหมายถึงการที่พวกเขาจะได้รับบริการและการช่วยเหลือจากรัฐน้อยลง

การสำรวจโดยคณะกรรมาธิการยุโรปล่าสุดพบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญสูงสุดกับ “การต่อสู้ความยากจนและการกีดกันทางสังคม” ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องใช้เงินงบประมาณในการแก้ไข ตามมาด้วย “การสนับสนุนเศรษฐกิจและการสร้างงานใหม่”

ขณะที่การสำรวจของยูกอฟ (YouGov) ในสหราชอาณาจักรเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ “ไม่เห็นด้วย” กับคำถามที่ว่า สหราชอาณาจักรเก็บภาษีมากเกินไปหรือไม่ และสหราชอาณาจักรใช้จ่ายกับการให้บริการทางสังคมมากเกินไปหรือไม่ มากพอ ๆ กันกับที่ตอบว่า “เห็นด้วย” กล่าวคือมีคนที่มองว่ารัฐบาลยังเก็บภาษีน้อยเกินไป และให้การบริการทางสังคมน้อยเกินไป จำนวนมากพอ ๆ กับคนที่มองว่ารัฐบาลเก็บภาษีมากเกินไปและใช้จ่ายเพื่อให้บริการทางสังคมมากเกินไป

ฟัมเคอ ครุมบ์มุลเลอร์ (Famke Krumbmüller) หัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่าย ยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย และแอฟริกา (EMEIA) ของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ อีวาย (EY) วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในยุโรปในขณะนี้มีแนวโน้มอย่างมากที่จะหล่อเลี้ยงการใช้วาทกรรมประชานิยมต่อไป แต่เธอมองว่า เมื่อประเทศเหล่านี้ใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง จะเป็นการเพิ่มพลวัตมากขึ้น

Advertisment

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของ อลิอันซ์ (Allianz) คาดว่า หากสหภาพยุโรปมีการใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปลดลงครึ่งหนึ่ง จากตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในปี 2024-2025