เปิด “ดัชนีความน่าอยู่ทั่วโลก 2023” นอกจากอันดับเมืองน่าอยู่ ดัชนีนี้บอกอะไรเราอีกบ้าง

ดัชนีความน่าอยู่ท่ัวโลก 2023
กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย/ Photo by JOE KLAMAR / AFP
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี


เมื่อเร็ว ๆ นี้ Economist Intelligence Unit (EIU) เผยแพร่รายงาน “Global Liveability Index 2023”
หรือ “ดัชนีความน่าอยู่ทั่วโลก 2023”

ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์สำหรับเมืองที่มี “คะแนนความน่าอยู่” อันดับท็อป ๆ ของโลก เพราะล้วนแต่เป็นเมืองในประเทศพัฒนาแล้วที่พอจะคาดเดาได้ 

เวียนนา (ออสเตรีย) ครองอันดับ 1, โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) อันดับ 2, เมลเบิร์น (ออสเตรเลีย) อันดับ 3, ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) อันดับ 4, แวนคูเวอร์ (แคนาดา) อันดับ 5, ซูริค (สวิตเซอร์แลนด์) อันดับ 6, คัลการี (แคนาดา) และเจนีวา (สวิตเวอร์แลนด์) อันดับ 7 ร่วม, โทรอนโต (แคนาดา) อันดับ 9, โอซากา (ญี่ปุ่น) และโอกแลนด์ (นิวซีแลนด์) อันดับ 10 ร่วม 

แต่นอกเหนือจากอันดับแล้ว ดัชนีนี้มีรายละเอียดน่าสนใจที่อยากหยิบยกมาชวนคลี่ดูกัน 

Global Liveability Index ปีนี้ คะแนนดัชนีเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 76.2 จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคะแนน 73.2 ในปีที่แล้ว คะแนนด้านที่ดีที่สุดคือ ด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่โลกเราผ่านพ้นการระบาดของโควิด-19 มาได้แล้ว และได้ปรับปรุงในด้านนี้ให้ดีขึ้น ส่วนด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความบันเทิง และโครงสร้างพื้นฐานคะแนนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ด้านความมั่นคง คะแนนลดลงอย่างไม่ต้องเดาว่าเป็นเพราะเรื่องอะไร 

Advertisment

เมืองในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทำคะแนนและอันดับดีขึ้นมากในปีนี้ โดยใน 10 อันดับเมืองที่ขยับอันดับดีขึ้นมากที่สุด เป็นเมืองจากเอเชีย-แปซิฟิกถึง 8 เมือง เช่น เวลลิงตัน (นิวซีแลนด์) ทะยานขึ้น 35 อันดับมาอยู่ที่ 23, โอกแลนด์ (นิวซีแลนด์) ดีขึ้น 25 อันดับจนติดอันดับ 10 ขณะที่ฮานอย (เวียดนาม) ขยับดีขึ้น 20 อันดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนจากภาวะเผชิญโรคระบาดเข้าสู่ภาวะปกติ

อุปาสนา ดัตต์ (Upasana Dutt) หัวหน้าคณะผู้จัดทำ Global Liveability Index ของ EIU บอกว่า เมืองต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วเอเชียและตะวันออกกลางมีการปรับปรุงปัจจัยด้านต่าง ๆ อย่างโดดเด่น ขณะที่แกนการเมืองและเศรษฐกิจของโลกก็ยังคงเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก จึงคาดว่าเมืองต่าง ๆ ในเอเชียและตะวันออกกลางจะขยับอันดับความน่าอยู่ขึ้นอย่างช้า ๆ

ส่วนเมืองที่อันดับความน่าอยู่ร่วงมากที่สุด 10 อันดับ คือ เอดินบะระ (สหราชอาณาจักร) ร่วง 23 อันดับ, สตอกโฮล์ม (สวีเดน) ร่วง 22 อันดับ, ลอสแองเจลีส (สหรัฐอเมริกา) ร่วง 17 อันดับ, ซานดิเอโก (สหรัฐอเมริกา) ร่วง 17 อันดับ, แมนเชสเตอร์ (สหราชอาณาจักร) ร่วง 16 อันดับ, รอตเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) ร่วง 16 อันดับ, ไซปัน (หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา) ร่วง 13 อันดับ, ทาชเคนต์ (อุซเบกิซสถาน) ร่วง 13 อันดับ, ลียง (ฝรั่งเศส) ร่วง 12 อันดับ และลอนดอน (สหราชอาณาจักร) ร่วง 12 อันดับเช่นกัน

สิ่งที่น่าสังเกตและเก็บมาคิดในแง่การพัฒนาบ้านเมืองก็คือ เมืองที่อันดับร่วงลงมากที่สุด 10 อันดับแรกนี้ คะแนนไม่ได้ลดลงเท่าไหร่นัก แต่เพราะการอยู่กับที่-ไม่ได้ปรับปรุงดีขึ้น ในขณะที่เมืองอื่น ๆ อีกจำนวนมากปรับปรุง-พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เมืองเหล่านี้ถูกเบียดให้ร่วงลงจากจุดที่เคยอยู่ 

Advertisment

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้บอกเราว่า ถ้าเคยทำได้ดี ก็ไม่ควรชะล่าใจว่าดีพอแล้ว และสำหรับเมืองที่ยังไม่เคยอยู่ในจุดที่ “ทำได้ดี” ก็ยิ่งไม่ควรอยู่นิ่งเฉยโดยไม่พยายามจะปรับปรุง-พัฒนา