
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย ชลิต กิติญาณทรัพย์
- พระราชินี เสด็จฯ ส่วนพระองค์ ทรงร่วมวิ่ง CIB RUN 2023 ระยะทาง 10 กิโลเมตร
- เปิดตัว “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ” ห่างสนามบิน 10 นาที
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
ในแวดวงรับเหมาก่อสร้าง เมื่อพูดถึง ช.การช่าง ทุกคนต้องยอมรับว่า คุณยิ้ม กับคุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ ได้ขยายอาณาจักรของตัวเองจากบริษัทผู้รับเหมาคนไทยมาเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างระดับนานาชาติ รับงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ ช.การช่าง ผงาดขึ้นมาบนเวทีต่างประเทศคือ การร่วมมือกับกลุ่มทุนญี่ปุ่นซึ่งคุณปลิวได้ทั้งเทคโนโลยีและการบริหารงานก่อสร้าง ทำให้ช่วยประหยัดต้นทุน
คุณปลิวเคยบอกว่า สร้างเสร็จแล้วซ่อมเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า ฉะนั้น ช.การช่างจะสร้างตามมาตรฐาน ไม่ยอมลดสเป็กอย่างเด็ดขาด
ปัจจุบันนี้ ช.การช่างกำลังขยายตัวไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าและการขนส่งระบบราง ทายาทที่จะมาสานต่อจากคุณปลิวคือใคร
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ คือเจน 3 ของ ช.การช่าง หลายคนสงสัยคำว่า “ช” คำนำหน้า ช.การช่าง มาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร
ดินเนอร์มื้ออร่อยแบบชิว ๆ วันหนึ่ง
คุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ เฉลยคำตอบ เป็นนามสกุลของแม่ผม แม่ผมแซ่ชิว เช่นเดียวกับชื่อ ปลิว แม่ผมตั้งชื่อเป็นภาษาจีน (แต้จิ๋ว) ว่า ปิว แปลว่า เสือดำ พอเปลี่ยนเป็นภาษาไทยเติม “ล” เป็น “ปลิว” หรือพี่ยิ้ม ชื่อจีนคือ ฮิ้ม แปลว่า หมี หรือ ฉิ่ง มาจากคำว่า ฉิ่งฉาบ
คุณปลิวถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ของการสร้างอาณาจักร ช.การช่างให้ยิ่งใหญ่จนทุกวันนี้
“หลังจากพ่อตาย คุณแม่กับพี่ถาวรต้องเป็นหลักของครอบครัว แม่จะคอยห้ามปรามพี่น้องที่เสียงดัง พี่ถาวรในฐานะพี่ใหญ่ต้องทำหน้าที่ผู้นำครอบครัว”
วันแบ่งสมบัติบริษัท ช.การช่าง บุคคลใกล้ชิดกับตรีวิศวเวทย์เล่าให้ฟัง “พี่ถาวรแบ่งหุ้น ช.การช่างให้กับตัวเองพี่น้องทุกคนเท่ากัน โดยมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียว หากน้องคนไหนเดือดร้อนต้องการขายหุ้นขอให้ขายกับคุณถาวร ปัจจุบันนี้คุณถาวรถือหุ้นใหญ่ที่สุดแต่ให้คุณปลิวบริหารงาน”
บนเส้นทางธุรกิจ ช.การช่างผ่านอุปสรรคขวากหนามมาเยอะมาก แต่มีปัญหาอุปสรรคใหญ่ ใหญ่ขนาดที่อาจจะทำให้บริษัทล้มละลายได้ในพริบตามีด้วยกัน 2 เหตุการณ์
หนึ่ง กรณีสร้างอาคารสูงและโรงเรียนนายร้อย จปร.เสร็จแล้วเก็บเงินไม่ได้ เพราะนายทหารใหญ่กลั่นแกล้ง สั่งลูกน้องไม่ให้ตรวจรับงาน
สอง วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ก่อนลดค่าเงินบาท ช.การช่าง กู้เงินตราต่างประเทศ 3,000 ล้านบาท โดยไม่ซื้อสัญญาประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพราะเชื่อรัฐบาลจะไม่ลดค่าเงินบาท แต่สามารถกลับหันหลังมาซื้อสัญญาประกันฯได้ทันท่วงที
หลังลดค่าเงินบาทปี 2540 คุณปลิวเริ่มขยายธุรกิจออกต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อคุณปลิวได้พบและร่วมงานกับนายช่างใหญ่หรือวิศวกรใหญ่ที่มีความชำนาญสร้างเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายช่างกลุ่มนี้มีเครือข่ายพี่เพื่อนน้องตั้งแต่สมัยสร้างเขื่อนภูมิพล
คุณปลิวเปรียบเสมือนเป็น “แรงดูด”
ขณะเดียวกันมี “แรงผลัก” จากภายในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เนื่องจาก กฟผ.ต้องพับแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดจนเอ็นจีโอต่อต้าน
คุณสมควร วัฒนกรีกุล คุณเรวัติ สุวรรณกิตติ คุณอาสา อรรถยุกติ คุณสมาน พงษ์ประภาพรรณ เป็นต้นทุนที่ประเมินค่ามิได้ที่ ช.การช่างได้รับมาจาก กฟผ.
เขื่อนน้ำงึม 2 และฝายน้ำล้นไซยะบุรี 2
เป็นเหมืองทองคำแห่งใหม่ของ ช.การช่าง ที่ได้มาเพียงแค่พลิกฝ่ามือ
มาถึงวันนี้คุณปลิวได้แบ่งสมบัติ ช.การช่างให้กับเจเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว
ลูกสาวคนโต ดร.ศุภมาส ตรีวิศวเวทย์ คุมธุรกิจระบบราง รถไฟฟ้าใต้ดิน และระบบถนน ทางด่วน
ลูกชายคนที่ 2 ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ คุมธุรกิจโรงไฟฟ้า
ลูกชายคนเล็ก ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ ดูแลธุรกิจโฆษณาของรถไฟฟ้าใต้ดิน
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ ไม่ใช่วิศวกรเหมือนคุณปลิวแต่เป็น economis จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก สหรัฐ และปริญญาโท เศรษฐศาสตร์จาก นอร์ทเวสเทิร์น ระหว่างเรียนทำปริญญาเอกจนถึงระดับ Ph.D (candidate)
ต้องกลับเมืองไทยมารับงานสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 ร่วมกับพ่อลุยงานตั้งแต่เริ่มเจรจาสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาว สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.
ธนวัฒน์เป็นคีย์แมนคนสำคัญในการเจรจากับรัฐบาลลาวตั้งแต่ ช.การช่างมาสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 ฝายน้ำล้นไซยะบุรี และอนาคตอันใกล้จะได้สัมปทานฝายน้ำล้นหลวงพระบางอีกหนึ่ง
ปี 2549-ปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด
ปี 2553-ปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ อีกตำแหน่งหนึ่ง
ปี 2554 ช.การช่างปรับโครงสร้างก่อตั้งบริษัท CKP เป็นโฮลดิ้งคอมปะนี
ถือหุ้นธุรกิจหลักดังนี้
1.ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ เขื่อนน้ำงึม 2 และไซยะบุรี
2.ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 โครงการ ผลิตไฟฟ้า 117.5 เมกะวัตต์ ขายให้กับโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อีก 120 เมกะวัตต์ขายให้ กฟผ.
3.ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 22 เมกะวัตต์ อยู่ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย และนครราชสีมา 2 จุดคือปักธงชัยกับด่านขุนทด
ปี 2558-ปัจจุบัน ธนวัฒน์ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ CKP ในแง่การบริหารงาน ธนวัฒน์ต้องทำงานร่วมกับคีย์แมนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณปลิว เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
ในแง่ของการบริหารที่ต้องผสมผสานผู้อาวุโสกับคนรุ่นหนุ่มให้สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้
น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง