ลิขสิทธิ์กางเกงช้าง

กางเกงช้าง
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เป็นข่าวดังข้ามคืนกรณีของ กางเกงช้าง ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคชาวไทย จากคุณสมบัติที่สวมใส่สบาย ราคาไม่แพง และลวดลายหลากหลายที่พิมพ์เป็นรูปช้างปรากฏอยู่ในเนื้อผ้าอย่างโดดเด่น เมื่อผู้บริโภคพบว่า กางเกงช้างส่วนหนึ่งไม่ได้ผลิตในประเทศไทย แต่ถูกนำเข้าสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศ รวมถึงมีการขยายความต่อไปอีกว่า กางเกงช้าง ควรจะถูกนับเนื่องเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ก็ยิ่งทำให้ประเด็นกางเกงช้างเป็นเรื่องร้อนแรง และถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดสัปดาห์

ข้อเท็จจริงก็คือ กางเกงช้าง ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่กางเกงช้างถูกผลิตจากผู้ผลิตภายในประเทศมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว โดยกางเกงช้างถูกนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้เห็นและสัมผัส เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมวัดวาอารามและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตัวให้มิดชิดตามวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของประเทศ

เป็นที่มาของความคุ้นเคยที่จะเลือกสวมใส่กางเกงช้างไปได้ทุกที่ และลามมาถึงผู้บริโภคชาวไทย เมื่อคำนึงถึงลวดลายและรูปแบบที่ปัจจุบันคาดว่าจะมีถึง 70 แบบ และมากกว่า 200 ลายช้าง

การขายดิบขายดีของกางเกงช้างได้นำไปสู่การจุดประเด็นด้วยการตั้งคำถามที่ว่า กางเกงช้าง เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของคนไทยหรือไม่ ในเจตนาที่จะให้เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวเกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ด้วยการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ อันเป็นเจตนาที่จะห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายกางเกงช้างที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ในประเด็นนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กางเกงช้าง ซึ่งมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์แบบศิลปะไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทยต้องหาซื้อมาสวมใส่หรือติดมือเป็นของฝากนั้น ลวดลายช้างดังกล่าวได้มีการสร้างสรรค์โดยคนไทย

โดยลายช้างที่มีการออกแบบและลวดลายลงไปในกางเกง มีการยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว ส่วนจำนวนหรือใครเป็นผู้ที่เข้ามายื่นขอลิขสิทธิ์บ้างนั้น ยังไม่สามารถบอกได้เพราะ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจจะไม่อยากเปิดเผย แต่บุคคลอื่นจะนำลวดลายช้างดังกล่าวไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้

กลายมาเป็นข้อสงสัยที่ว่า ลายช้างหรือลวดลายช้าง ลายใด-แบบใด ที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา รับแจ้งจดลิขสิทธิ์ จากข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันมีลวดลายช้างปรากฏอยู่ในตลาดมากกว่า 200 ลาย จึงควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างถึงสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญานั่นเอง