Green Finance เครื่องมือสู่ความยั่งยืน ของภาคเกษตรและอาหารไทย

Green Finance
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ปราโมทย์ วัฒนานุสาร
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ภาคเกษตรและอาหารไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงจากปัญหา Climate Change เนื่องจากภาคเกษตรและอาหารไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนสูงถึง 26% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ

อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านผลิตภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้น้อยและถูกจัดเป็นกลุ่มเปราะบาง เมื่อเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้เกษตรกรไทยปรับตัวได้อย่างจำกัดและยากต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหา Climate Change ในภาคเกษตร คือ “การเงินสีเขียว” (Green Finance) ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินทุนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Green Finance ในภาคเกษตรของโลกยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยหากพิจารณาเทียบเคียงกับมูลค่า Climate Finance ซึ่งจัดเป็น Subset สำคัญของ Green Finance ซึ่งในปี 2562 ของธุรกิจเกษตรและอาหารทั่วโลก พบว่าอยู่ที่ 28.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเพียง 4.3% ของมูลค่า Climate Finance ทั้งหมดที่อยู่ที่ 660.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น มูลค่า Climate Finance ของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอาหารรายย่อยมีอยู่เพียง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.8% ของมูลค่า Climate Finance ทั้งหมด

Climate Policy Initiative ประเมินความต้องการ Climate Finance ในธุรกิจเกษตรและอาหารของโลก คาดว่าจะอยู่ที่ราว 212-1,267 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในช่วงปี 2562-2573 หรือสูงถึง 7-44 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนใน Climate Finance ของธุรกิจเกษตรและอาหาร ในปี 2562/2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิด COVID-19 โดยได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศที่แปรปรวนซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้มีความต้องการการลงทุนเพื่อปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Advertisment

ส่วนภาคเกษตรและอาหารของไทยมีสัดส่วนมูลค่า Green Finance ช่วง 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2564-2566) อยู่ที่เพียง 0.3% ของมูลค่า Green Finance ทั้งหมดของไทย ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับสัดส่วนมูลค่าตลาด Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารของโลก

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังมีโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มสัดส่วนของ Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารของไทยให้สูงขึ้นได้

Green Finance จะเป็นตัวช่วยสำคัญของภาคเกษตรและอาหารไทยในการปรับตัวและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน เนื่องจากภาคเกษตรไทยมีความเปราะบางจากปัญหา Climate Risk โดยภาคเกษตรใช้น้ำคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 77% ของการใช้น้ำในแต่ละปีของไทย ซึ่งมีสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ประกอบกับสถาบันการเงิน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มตื่นตัวในเรื่อง Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารมากขึ้น ดังนั้น ภาคการเงินจึงเป็นอีกหนึ่ง Key Enabler สำคัญในการช่วยปลดล็อกความเสี่ยงเหล่านี้

ทั้งนี้ ความไม่พร้อมในการเข้าสู่ตลาด Green Finance ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ในภาคเกษตรและอาหาร จะเป็นปัจจัยท้าทายของการผลักดัน Green Finance ในภาคเกษตรและอาหาร เนื่องจากเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรสีเขียว รวมไปถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่เกษตรสีเขียว

Advertisment

นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำฟาร์มขนาดเล็กยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง และมีความรู้ความเข้าใจในด้านข้อมูลทางการเงินค่อนข้างจำกัด ประกอบกับไม่มีหลักประกันที่เพียงพอต่อการลดความเสี่ยงและการเข้าถึงเงินทุน จึงมีความเป็นไปได้ยากที่ภาคเกษตรจะสามารถเข้าถึงทางการเงินทุนสําหรับการปรับตัวและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

Krungthai COMPASS มองว่า ท้ายที่สุดหากไทยจะผลักดัน Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ควรใช้แนวคิด G-R-E-E-N ได้แก่ G-Government-ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการผลักดัน Green Finance อย่างจริงจัง

R-Reward-การสร้างแรงจูงใจในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

E-Educate-เร่งสร้างองค์ความรู้ด้านการเงินที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อดึงดูดการลงทุน

E-Engage-การกำหนดเป้าหมายที่วัดได้อย่างชัดเจนร่วมกัน และ N-Network-สร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ภาครัฐสามารถกำหนดมาตรฐานกลางและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจต่าง ๆ และภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้อย่างทัดเทียม

นอกจากนี้ ภาคการเงินควรมีความพร้อมในการจัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ส่งเสริมการดำเนินการของภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน