นักลงทุนทั่วโลกตื่นตัว Sustainable Finance

Sustainable Finance
ภาพจาก : freepik

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเงินเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Finance) มีบทบาทเพิ่มขึ้นทั่วโลก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามองค์การสหประชาชาติ (SDGs) ตามข้อตกลงปารีส โดยมุ่งหวังว่า “ภาคการเงิน” จะเข้ามาเป็นเครื่องยนต์และกลไกสำคัญในการระดมทุนเพื่อให้โลกลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก

โดยมูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน (ตราสารหนี้และเงินกู้) ทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 1.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าต่ำกว่าปีก่อนหน้า 15% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก

ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์การเงินที่ได้รับความนิยมคือ Green Bonds and Green Loans (วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม) ประมาณ 57% รองลงมาเป็นกลุ่ม Sustainability-linked Bonds and Loans (ไม่ระบุวัตถุประสงค์) ซึ่งสัดส่วนลดลงเหลือ 21% จากในปี 2565 มีสัดส่วน 35%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เหตุผลที่สัดส่วนของ Green Bonds and Loans เพิ่มขึ้น เนื่องจากต่างประเทศมีกฎระเบียบที่เข้มข้นขึ้นในการออกตราสารการเงินสีเขียว ประกอบกับนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมฟอกเขียว (Green Washing) ทำให้มีการจัดทำกรอบกฎหมายและข้อบังคับตราสารหนี้เพื่อให้เข้าข่ายความเป็น “Green” ที่เข้มงวดกว่า Sustainability-linked Bonds ที่มีวัตถุประสงค์ค่อนข้างกว้าง และตรวจสอบยากกว่า ด้วยปัจจัยดังกล่าวก็ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุน Green Bonds มากกว่า

ขาขึ้นตราสารการเงินเพื่อความยั่งยืน

สำหรับประเทศไทย มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในปี 2566 ชะลอตัวลงจากปีก่อน 11% มาที่ระดับ 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2.5 แสนล้านบาท) แต่ยังเป็นปริมาณการระดมทุนที่ยังสูงกว่าปี 2564 และยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น เพราะได้แรงหนุนจากการออกตราสารหนี้ Sustainability Bonds ของภาครัฐ ที่ใช้ในโครงการที่ส่งเสริมสังคมและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

Advertisment

GRAPHIC_Sustainable

อย่างไรก็ดีคาดว่าในปี 2567 ผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนจะมีจำนวนสูงกว่าปี 2566 เนื่องจากมีแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ออกตราสารหนี้หลักในกลุ่มนี้ รวมถึงการจัดทำ Thailand Taxonomy ทำให้ธุรกิจสนใจระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น และยังมีความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจาก Green Funds ต่าง ๆ รวมถึงความตื่นตัวของบริษัทเอกชนไทยที่เพิ่มขึ้น

โดยเรื่องนี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศส่งเสริมให้ “ตลาดทุนไทย” พัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับผลักดันนโยบายกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว ที่เป็นทางเลือกการลงทุนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ตั้งเป้าว่าปี 2567 รัฐบาลไทยจะเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน

Advertisment

กองทุน Thai ESG รูปธรรมด้านความยั่งยืน

โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลและตลาดทุนไทยได้ผลักดันการลงทุนด้านความยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: TESG) เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่ผู้ลงทุนสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กองทุน Thai ESG กำหนดให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG อาทิ หุ้นไทยยั่งยืนในดัชนี SET ESG Ratings ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 193 บริษัท จากกว่า 800 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond)

สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดขายกองทุน Thai ESG และมีช่วงเวลาการขายเพียงแค่ 3 สัปดาห์ของเดือน ธ.ค. แต่ก็มีกองทุน TESG ที่ออกขาย 22 กองทุน จาก 16 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 5.2 พันล้านบาท

ภาครัฐหัวหอก ESG Bond มูลค่า 6 แสนล้าน

ขณะที่การระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืน (ESG Bond) ตามข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่ามีมูลค่าคงค้างรวม 658,795 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 คิดเป็น 4% ของตลาดตราสารหนี้ไทย

ผู้ออกหลักเป็นภาครัฐ 6 หน่วยงาน มูลค่าคงค้างรวม 460,900 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าคงค้างทั้งหมด ประกอบด้วย 1.กระทรวงการคลัง ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) 2 รุ่น มีมูลค่าคงค้าง 412,000 ล้านบาท 2.การเคหะแห่งชาติ ออกตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) 4 รุ่น 9,800 ล้านบาท และ Sustainability Bond อีก 1 รุ่น 2,100 ล้านบาท

3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออก Social Bond 3 รุ่น 4,000 ล้านบาท และ Sustainability Bond อีก 
2 รุ่น 8,500 ล้านบาท 4.ธนาคารออมสิน ออก Social Bond 1 รุ่น 10,000 ล้านบาท

5.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) 2 รุ่น 6,000 ล้านบาท และ 6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออก Green Bond 3 รุ่น 8,500 ล้านบาท

ฝั่งธุรกิจเอกชน ปัจจุบันพบว่ามีทั้งหมด 22 บริษัท ที่ระดมทุน ESG Bond ไปแล้ว มูลค่าคงค้าง 197,895 ล้านบาท

นี่คือกระแสความนิยมการลงทุนประเภท Sustainable Finance ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยมองว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนจะช่วยลดความเสี่ยง และมีโอกาสจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวด้วย