เปิดศักราชอินโด-แปซิฟิก ตัวแปรกำหนดทิศทาง “อาเซียน”

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ประดาป พิบูล TEAM GROUP

 

โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่เพียงแต่ในด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็ผันแปรเช่นกัน

ข้อขัดแย้งและความรุนแรงในตะวันออกกลาง ปัญหาน้ำมันที่จะหมดไป ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเขตแดนในทะเลจีนตอนใต้ และความเจริญรุ่งเรืองของอินเดีย ผลักดันให้ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อภูมิภาค และมีผลกระทบต่ออนาคตของอาเซียน

Advertisment

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เอเชียเป็นศูนย์โน้มถ่วงของความร่วมมือส่วนภูมิภาคในประชาคมโลก องค์การสหประชาชาติตั้งคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ และสังคม สำหรับเอเชียและแปซิฟิกขึ้นในไทย ปี 2490 ต่อมาเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวมากขึ้น ศูนย์โน้มถ่วงได้หันเหไปทางด้านแปซิฟิก และนำไปสู่การจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก เมื่อปี 2532 ที่กรุงแคนเบอร์รา จนเป็นที่กล่าวขวัญว่า ศตวรรษ 21 นี้จะเป็น “ศตวรรษแปซิฟิก”

ในเอเชีย อาเซียนเป็นต้นแบบของความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด และก็มิได้มองข้ามกลุ่มประเทศทางด้านตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย และเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือยุโรป ปี 2540 ไทย และเมียนมาร่วมกันสถาปนากรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล

สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการ และเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC ต่อมาปี 2545 ไทยริเริ่มขยายความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศทั้งทวีปเอเชีย คลุมไปไกลถึงตะวันออกกลาง โดยจัดตั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD

อาเซียนพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศทั้งสองฟากของมหาสมุทรทางทะเลผ่านช่องแคบมะละกา และนับจากปี 2554 เส้นทางการค้าใหม่ผ่านสมาชิกอาเซียนภาคพื้นดินตามแผนแม่บทการเชื่อมโยงระหว่างกัน

Advertisment

ช่วงเปลี่ยนศตวรรษ สถานภาพของเอเชียถูกท้าทาย จีนผงาดขึ้นสู่เวทีโลก อินเดียยึดนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศซีกตะวันออก ข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ กระแสการค้ามุ่งสู่เอเชีย ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอาเซียนดึงดูดความสนใจในแนวทางการใช้ประโยชน์จากระบบการขนส่งทางบก ตามด้วยนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งจะเชื่อมโยงเอเชียและยุโรปโดยเน้นระบบรางพัฒนาการเหล่านี้กระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาค ประกอบกับความสำคัญของมหาสมุทรอินเดียปรับเปลี่ยนไปไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้า แต่ยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นบริเวณที่สำคัญต่อนโยบายความมั่นคงของสหรัฐ และเพราะอินเดียสนใจและได้ขยายผลประโยชน์ถึงมหาสมุทรแปซิฟิก (โรรี่ เม็ทคลาฟ 2556)

นอกจากนี้ วาระของ “ระบบเศรษฐกิจสีฟ้า” ได้รับการสนับสนุนจากประเทศรอบมหาสมุทรมากขึ้น โดยเน้นปกป้องท้องทะเลให้เป็นเส้นทางสินค้าที่มั่นคงปลอดภัย และแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ที่ยั่งยืน อินโด-แปซิฟิกจึงถูกผลักดันให้มีบทบาท เป็นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของภูมิภาค และตัวแปรที่สำคัญเพื่อแสดงให้โลกเห็นถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตกลงที่จะระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ขยายตัว และเจริญรุ่งเรือง โดยใช้ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง

อาเซียนตั้งอยู่ระหว่างสองมหาสมุทรได้รับผลกระทบโดยตรง และต้องเผชิญกับภูมิภาคที่มีบริเวณกว้างใหญ่ ซึ่งขยายไปถึงแอฟริกาตะวันออก อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางทะเลที่เข้มข้น การคมนาคมในกลุ่มประเทศบิมสเทคจะสะดวกขึ้น และภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของจีนจะถูกลดลง

ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องตระหนัก และติดตามการเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมรับมือกับโอกาสและสิ่งท้าทายที่จะเกิดขึ้น อนาคตอาเซียนจะขึ้นอยู่กับการรักษาความเป็นปึกแผ่น และก้าวไปข้างหน้าตามวิถีอาเซียน ส่วนอนาคตของไทยจะขึ้นอยู่กับความสามารถของภาครัฐและเอกชนที่มองเห็น และคาดการณ์แนวโน้มใหม่ ๆ และรักษาผลประโยชน์ไว้ให้ได้