ความกังวล ราคาน้ำมัน กระทบเงินเฟ้อ-ดุลบัญชีเดินสะพัด

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ราคาน้ำมันปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่ปี 2014 (ราคาน้ำมันเคยสูงสุดเกือบ 120 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2013) โดยปรับเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากประมาณ 60 เหรียญในช่วงตุลาคม 2017 ทำให้เริ่มมีการคาดการณ์กันว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นไปจนถึงกลางปีหน้า

สำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือ EIA ได้ปรับการคาดการณ์เมื่อต้นเดือนกันยายน ราคาน้ำมันดิบเบรนต์จากเฉลี่ย 72 เหรียญต่อบาร์เรลเป็น 76 เหรียญต่อบาร์เรลในปีนี้ และปีหน้าอยู่ที่ 74 เหรียญต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ที่เพิ่งปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันขึ้นในปลายเดือนกันยายนจากเฉลี่ย 70 เหรียญ เป็น 74 เหรียญในปีนี้ และปีหน้า คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับสูงต่อเนื่องเป็น 80 เหรียญ

ปริมาณการผลิตน้ำมันลดลง

ราคาน้ำมันโลกปรับลงต่ำสุดแตะ 30 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วงต้นปี 2016 หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปี 2016-2017 โดยราคาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 40-60 เหรียญต่อบาร์เรล จนกระทั่งปลายปี 2017 ที่ราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นค่อนข้างเร็วมาเป็น 70 เหรียญในต้นปี 2018 และ 80 เหรียญในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นนั้น มาจากปัญหาด้านปริมาณการผลิตเป็นสำคัญ คือ

1.กลุ่มโอเปก ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (เกือบ 40% ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั้งโลก) ได้ปรับลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปี 2016 และยังคงคุมระดับการผลิตอยู่ในปัจจุบัน

2.ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลายประเทศ เช่น เวเนซุเอลา ลิเบีย ไนจีเรีย และอิรัก ประสบปัญหาทางการเมือง

3.อเมริกาประสบปัญหาเรื่องท่อขนส่งน้ำมัน (infrastructure bottleneck) ทำให้ไม่สามารถส่งออก เชลออยล์เพิ่มขึ้น แบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ประเมินว่า ปัญหาเรื่องท่อขนส่งน้ำมันจะคลี่คลายได้ในครึ่งหลังของปี 2019

4.ความกังวลเกี่ยวกับการคว่ำบาตรอิหร่านของอเมริกา ซึ่งจะมีผลในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยอเมริกาสั่งห้ามบริษัทของอเมริกาทำธุรกิจกับบริษัทที่ค้าขายกับอิหร่าน ยกเว้นว่าจะได้รับไฟเขียว (การยกเว้น) จากอเมริกาก่อน ทำให้กังวลว่า อิหร่านจะไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ทั้งนี้อิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ในโอเปก โดยส่งออกกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

จากปัญหาดังกล่าวประเมินว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันจะลดลงกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เกือบใกล้เคียงกับปี 2014 ซึ่งปริมาณการผลิตหายไป 3.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของอิหร่านจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 4 และผลกระทบจะมากสุดในไตรมาส 2 ปีหน้า ทำให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 90-95 เหรียญต่อบาร์เรลในไตรมาส 2 ปีหน้า

เศรษฐกิจชะลอความต้องการใช้น้ำมันอาจลดลง

ปัจจัยที่อาจช่วยลดผลกระทบเรื่องปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันที่คาดว่าจะลดลง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าของอเมริกาและจีน

ทั้งนี้ประเทศกำลังพัฒนามีปริมาณการใช้น้ำมันประมาณ 50 ล้านบาร์เรลต่อวัน (กว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณความต้องการทั้งโลก) โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันถึง 13.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นอันดับ 3 รองจากอเมริกา ใช้น้ำมัน 20 ล้านบาร์เรล และยุโรป 14 ล้านบาร์เรล

โดยเศรษฐกิจจีนนั้นเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว และคาดว่าผลจากที่อเมริกาปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญ (ปรับขึ้น 10% ตั้งแต่ 24 กันยายน 2018 และเพิ่มเป็น 25% ในเดือนมกราคม 2019) จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของจีนในปี 2019 โดยประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาจปรับลดลงเหลือ 6.1% ในปีหน้า (ปีนี้คาดการณ์ว่าจีนจะโต 6.6%)

ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อาจจะทำให้ความสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวดีขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นไม่มากนัก

ผลกระทบของราคาน้ำมัน

ประเทศที่จะถูกกระทบจากการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมัน คือ ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องนำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ค่าเงินอ่อนตัวลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจภายในและผลจากการที่แข็งค่าของเงินดอลลาร์ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา ราคาน้ำมันในประเทศปรับสูงขึ้นกว่า 100% จากต้นปี ส่วนบราซิลสูงขึ้น 50% อินเดียสูงขึ้น 36% ทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ยังทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดแย่ลง (เพราะต้องจ่ายค่าน้ำมันนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น) ทำให้เศรษฐกิจภายในอ่อนแอลง

สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชีย คือ มูลค่านำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 5% ของจีดีพี ซึ่งจะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าผลกระทบมีไม่มากนัก ทั้งด้านเงินเฟ้อและดุลบัญชีเดินสะพัด โดยราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นแค่ 10% เพราะเงินบาทแข็งค่า และรัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันบางส่วนเป็นการนำเข้าเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปส่งออก ทำให้ลดผลกระทบลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันยังปรับขึ้นต่อเนื่อง จะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบมากขึ้นในปีหน้า