พิษฝุ่นละออง PM 2.5 วังวนรัฐบาลแก้ปัญหาปลายเหตุ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

เริ่มต้น “ปีหมูดิน” ไม่กี่สัปดาห์ ประเทศไทยก็เจอข่าวลบประเดิมแล้ว ว่าด้วยเรื่องของสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ยิ่งนับวันมีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้น” ที่สำคัญ เวลานี้อยู่ในระดับเริ่มมี “ผลกระทบ” ต่อสุขภาพของประชาชน

วันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา กทม.ต้องสั่งปิดโรงเรียนกว่า 400 แห่งเป็นเวลา 3 วัน และทำฝนหลวงชะล้างมลพิษฝุ่นละออง พร้อมกับขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ช่วยกันทำ อาทิ การเพิ่มความถี่ทำความสะอาดถนน ฉีดพ่นน้ำในอากาศ หยุดก่อสร้างรถไฟฟ้า ลดการใช้รถคนเดียว ให้รถวิ่งบนถนนน้อยลง เป็นต้น

แต่ถ้าดูแล้วล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ยัง “ไม่เห็น” รัฐบาลจะออกมาพูดหรือผลักดันมาตรการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเลย ซึ่งตัวปัญหาหลัก ๆ เรื่องนีี้ก็เป็นผลจากการใช้รถดีเซลและน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะ รถบรรทุก คุณภาพน้ำมันดีเซลที่อยู่ระดับต่ำกว่าสากล บวกกับสภาพการจราจร ทำให้สะสมนานวัน ผสมกับมีการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ผุดเป็นดอกเห็ด สารพัดมลพิษมาเจอกับสภาพอากาศภายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีความกดอากาศต่ำและกระแสลมนิ่ง จึงทำให้เกิดปัญหาสูดดมมลพิษกันในเวลานี้

ตอนนี้ก็ได้แต่เฝ้ารอและหวังว่า รัฐบาลจะมีมาตรการแก้ปัญหาต้นเหตุอย่างเป็นรูปธรรมอะไรบ้าง จะมีการพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอะไรบ้าง เช่น การเข้มงวดในการตรวจสภาพรถ การดักจับรถปล่อยควันดำ

การยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซล เครื่องยนต์ให้ได้มาตรฐาน การออกมาตรการจูงใจเปลี่ยนรถเก่า เป็นต้น อีกเรื่องที่น่าวิตกกังวลไม่แพ้กันก็คือ เรื่องการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมต่าง ๆ ที่ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นละอองมากเช่นกัน โดยเฉพาะจุดก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ บวกกับก่อสร้างโครงการคอนโดฯด้วยแล้ว สภาพอากาศแถวนั้นจะหายใจได้อึดอัดลำบาก คนที่อยู่อาศัยแถวนั้นมีปัญหาทางเดินหายใจ แสบตาแสบคอกันเป็นแถว

ประเด็นที่คาใจคือ โครงการเหล่านี้ถูกผ่านการขออนุญาตจากหน่วยงานทางการมาได้อย่างไร โดยเฉพาะหน่วยงานอนุญาตอย่างกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรฯ เพราะขนาดมี 4 กฎหมายควบคุมการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ แล้ว โดยเฉพาะการจัดทำ EIA หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแต่อนุมัติให้ทำโครงการขึ้นมากมาย จนทุกวันนี้โครงการคอนโดฯเร่งก่อสร้างจนล้นตลาด ท่ามกลางปัญหาก่อมลพิษให้ชาวบ้านแถวนั้นอยู่

แล้วหน่วยงานทางการเหล่านี้ โดยหน่วยงานที่ดู EIA ได้ลงพื้นที่เข้าติดตามดูการก่อสร้างของโครงการเหล่านี้เป็นระยะ ๆ หรือไม่ และได้มีการสั่งให้ทำอะไรเพื่อแก้ไขผลกระทบกับคนในพื้นที่นั้นหรือไม่ หรือว่าให้โครงการ “ปิดประกาศ” ผลตรวจสอบหรือปัญหาที่จะเกิดผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ให้ระมัดระวังหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นจะปิดประกาศแค่ระยะเวลาการก่อสร้างเท่านั้นเอง

วันนี้ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของรัฐบาลรัฐประหาร “บิ๊กตู่” ที่กำลังจะหมดวาระลง เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลแบบฉบับประชาธิปไตยไทย ๆ

ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้ แต่เมื่อมองผลงานของรัฐบาลบิ๊กตู่ที่เข้ามาบริหารประเทศช่วงปี 2557 ถึงตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 4 ปีแล้ว แนวทางแก้ปัญหาก็จะเห็นการแก้ปัญหาได้เพียงปลายเหตุ ตอนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแต่แรกก็บอกจะปฏิรูปหลาย ๆ เรื่องให้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่วันนี้ก็ยังมีหลายเรื่องใหญ่ ๆ ที่ปฏิรูปไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการปฏิรูปข้าราชการ ซึ่งทุกวันก็ยังมีปัญหาการทำงาน “คุณภาพต่ำ” ของข้าราชการไทย ประชาชนทั่วไปก็ได้รับการบริการที่ย่ำแย่ ข้าราชการระดับสูงก็มัวแต่รับใช้นายทุนอยู่เหมือนเดิม ขณะที่

มีสถิติช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ประเทศไทยยังถูกจัดอยู่อันดับ 1 ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก (ข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018) ซึ่งคนไทยจำนวน 1% ของทั้งประเทศ ถือครองทรัพย์สินรวมกันสูงถึง 58% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ

ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น กับคณะผู้บริหารของบริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ก็ได้ข้อมูลที่ดีจากไกด์เกี่ยวกับการก่อสร้างจะมีความเข้มงวดมากไปจนถึงการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเทศที่มีพื้นที่น้อย แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาฟองสบู่อสังหาฯมากอย่างประเทศไทย เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายที่เข้มงวดในการครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษีที่ดินที่สูง การเสียภาษีมรดกภายใต้ราคาประเมิน ซึ่งบางคนได้มรดกอสังหาฯมา แต่ที่ดินมีมูลค่าสูงกว่าราคาประเมิน ก็ต้องหาเงินมาจ่ายภาษี บางคนก็เป็นหนี้จากภาษีขึ้นมา ส่วนอสังหาฯที่ซื้อหรือครอบครองมีอายุเกิน 30 ปี ก็จะต้องมีการรีโนเวตและซ่อมแซมให้มีความปลอดภัยมั่นคง สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ

วันนี้ก็ได้แต่เฝ้ารอวันที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ต้นปี 2563 และภาษีรับมรดกที่มีผลบังคับใช้แล้ว ข้าราชการไทยจะสามารถเก็บภาษีกลุ่มคนรวย 1% ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเข้าแผ่นดินแค่ไหน