กำลังซื้อ หายไปไหน ?

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงศ์พันธุ์

เป็นปีที่ไม่ง่ายเลยจริง ๆ สำหรับเศรษฐกิจไทย

รับรู้โดยทั่วไปว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งต่อเนื่องข้ามปี กำลังส่งผลสั่นสะเทือนไปทั่ว โดยเฉพาะประเทศไทย บริษัทที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศพากันปรับแผนลงทุน ส่วนใหญ่ใช้วิธีกำเงินสด ๆ ไว้ในมือ รอให้ทุกอย่างชัดเจน

จากนั้นถึงค่อยมาคิดกันใหม่กับปัญหาค่าเงินบาทของไทย มุมมองภาคธุรกิจกำลัง

วัดใจรัฐบาลจะปล่อยให้สถานการณ์ค่าเงินเป็นไปแบบนี้

อีกนานเท่าใด เช่นเดียวกับที่ตั้งคำถามถึงทิศทางดอกเบี้ย (ขาขึ้น) ที่กำลังส่งผลกระทบถึงภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง

สด ๆ ร้อน ๆ คือ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินภาพรวมการใช้จ่ายในครึ่งปีแรกแล้วว่า มีแนวโน้มใช้จ่ายต่ำกว่าที่ควรจะเป็นรวม ๆ แล้ว ดัชนีค้าปลีกปี 2562 อาจทรงตัว หรือต่ำกว่าปี 2561 ที่คาดว่าจะเติบโต 3-3.1%

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ว่า หากภาครัฐจะเร่งจัดให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานตามแพลนที่วางไว้ในไตรมาสแรก จะส่งผลดีถึงภาคการค้าปลีกในไตรมาสที่ 3 และ 4 แต่ถ้าการประมูลยืดเยื้อ จะมีผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอนในบางกลุ่มสินค้า

น่าสนใจ คือ ภาคการค้าปลีก-ค้าส่งในปัจจุบัน มีสัดส่วนจีดีพีทางการผลิตสูงถึงร้อยละ 16.1 เป็นรองแค่ภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 16 ของทั้งประเทศ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน “มิจิโนบุ ซึงาตะ” ผู้บริหารใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ส่งสัญญาณให้เห็นว่า แม้แต่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างโตโยต้า ยังใช้วิธี “เพลย์เซฟ” ไม่ยอมบุ่มบ่าม

แยกเป็นประเด็น ๆ สิ่งที่โตโยต้ากังวลมีทั้งภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงสงครามทางการค้าระหว่างอเมริกาและจีน

จากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ โตโยต้าคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2562 อาจมียอดขายโดยรวมลดลง เมื่อเทียบกับปี 2561

แม้ว่าปี 2561 ที่ผ่านมา ยอดขายโตโยต้าจะพุ่งขึ้นไปถึง 1,039,158 คัน เพิ่มขึ้นถึง 19.2% เทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 397,542 คัน เพิ่มขึ้น 14.8% รถเพื่อการพาณิชย์ 641,616 คัน เพิ่มขึ้น 22.1%

เป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โตโยต้ามียอดขายเกิน 1 ล้านคัน

ถามว่า โตโยต้ายิ่งใหญ่จะตาย เกี่ยวข้องอะไรกับเมืองไทย

ต้องไม่ลืมว่า โตโยต้า คือ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ที่นอกจากจะผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศไทย ยังใช้ฐานการผลิตในประเทศไทยส่งออกไปทั่วโลก ปีหนึ่ง ๆ โตโยต้าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนผ่านยอดขายรถยนต์ที่ผลิตออกมาเป็นแสน ๆ ล้าน

ซัพพลายเชนของโตโยต้ายังต่อเนื่องไปถึงธุรกิจมากมาย โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นพัน ๆ แห่ง ดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่าย รวมถึงแรงงานอีกมหาศาล

ทุกย่างก้าวของยักษ์ใหญ่รายนี้ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง

เช็กอาการธุรกิจอื่น ๆ ล้วนไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ “ตั้งรับ” กับสารพัดความไม่แน่นอนที่กำลังดาหน้าเข้ามา

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจไทยส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์ครั้งวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่สุดเท่าที่ไทยเคยพบ

การเรียนรู้จากความเจ็บปวดกลายเป็นบทเรียนมีค่าที่สุด แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานแล้วก็ตาม

ธุรกิจใหญ่ ๆ ถ้าหากไม่ใช้เงินผิดประเภท รวม ๆ แล้วคงไม่มีอะไรน่ากังวล ห่วงแต่รายย่อย ๆ ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูก

“ดิสรัปต์” อย่างจัง มัวคิดว่าที่ค้าขายฝืดเคือง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี (ก็ถูกส่วนหนึ่ง) แต่ลืมมองถึงปัจจัยแวดล้อมจากการพัฒนาการค้าขายในยุคนี้

เดี๋ยวนี้อยากได้อะไรก็สั่งออนไลน์ แกร็บไบค์ หรือเดินเข้าคอนวีเนี่ยนสโตร์ คนมีทางเลือกเยอะมากมาย

เหมือนที่แท็กซี่ยุคก่อนหน้านี้ที่แปลกใจว่าทำไมผู้โดยสารถึงลดลง

มารู้ตัวอีกทีเมื่อ “อูเบอร์” หรือ “แกร็บ” เบ่งบาน

และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว