สงครามการค้าครั้งใหม่ ใครได้ ใครเสีย ?

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย สุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

ย่างเข้ารุ่งอรุณของวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา การปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณกว่า 6.3 ล้านล้านบาท) จากเดิม 10% เพิ่มเป็น 25% ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความขู่ไว้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ได้เริ่มมีผลบังคับใช้จริงเพราะเห็นว่าการเจรจาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

นับเป็นการจุดชนวนให้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้า
ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน

วันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาวิเคราะห์กันว่า สงครามครั้งนี้ใครจะได้ ใครจะเสีย ?

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า สินค้าจีนที่สหรัฐขึ้นภาษีในครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 5,745 รายการ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีน โดยเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกันกับที่โดนภาษีนำเข้าที่ 10% ไปแล้วคือมีทั้ง 1) กลุ่มสินค้าทุน (capital goods) เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า 2) สินค้าขั้นกลาง (intermediate goods คือสินค้าที่นำไปผลิตต่อ) เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และรถยนต์ และ 3) สินค้าขั้นสุดท้าย (final goods คือสินค้าที่นำไปอุปโภคบริโภค) เช่น เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย ฯลฯ

แต่แค่นี้ยังไม่พอ ! สหรัฐยังกำหนดรายชื่อสินค้าเพื่อเตรียมการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในส่วนที่เหลืออีกราว 3 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณกว่า 9.5 ล้านล้านบาท) ครอบคลุม 3,805 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าทุนและสินค้าขั้นสุดท้าย เห็นอย่างนี้แล้ว ถามว่าใครจะเสียประโยชน์จากการขึ้นอัตราภาษีบ้าง นักวิเคราะห์หลายสำนักชี้ให้เห็นว่า ผู้เสียประโยชน์กลับกลายเป็นประชาชนชาวอเมริกันและธุรกิจในสหรัฐเสียเอง เนื่องจากชาวอเมริกันต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าขั้นสุดท้ายที่จำเป็นสำหรับอุปโภคบริโภค

ขณะที่ธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนจากสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลาง โดยยังไม่สามารถหาตลาดอื่นทดแทนจีนได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้ส่งออกจีนไม่ได้ปรับลดราคาสินค้าลง ต่างจากที่นายทรัมป์ได้เคยกล่าวมาตลอดว่า จีนจะต้องจ่ายและแบกรับภาษีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางสำนักเห็นว่า หากมองในระยะยาวธุรกิจจีนย่อมได้รับความเสียหายเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อถึงเวลานั้น สหรัฐอาจสามารถนำเข้าสินค้าจากตลาดอื่นทดแทนสินค้าจีนได้มากขึ้น

ทางด้านจีนตอบโต้สหรัฐกลับอย่างทันควันด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) ครอบคลุมสินค้า 5,142 รายการ โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2019 และสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลาง ซึ่งอาจลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในจีนได้บ้าง เพราะมีสินค้าขั้นสุดท้ายเป็นส่วนน้อย แต่แน่นอนว่าสงครามครั้งนี้จะส่งผลลบต่อทั้งสองฝ่าย และยังจะขยายผลต่อไปสู่การค้าโลก การชะลอลงของเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่แย่ลง

เมื่อหันกลับมามองไทย ถามว่าไทยได้หรือเสียประโยชน์ ? โดยเบื้องต้นประเมินว่า ไทยอาจเสียมากกว่าได้ประโยชน์คล้ายกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูง กล่าวคือ จะเสียประโยชน์จากการส่งออกที่ชะลอลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก และผลของ supply chain effect โดยรวม เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งไปจีน

แม้ว่าไทยอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกทดแทนในสหรัฐและจีน (trade diversion) เช่น สหรัฐโยกคำสั่งนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยมากขึ้น และไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีน (investment diversion) มายังไทยเพื่อเลี่ยงมาตรการภาษี แต่อย่าลืมว่ายังมีประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่พร้อมจะแข่งขันกับไทยเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนด้วย เช่น เวียดนาม จึงไม่ควรนิ่งนอนใจในประโยชน์ที่จะได้รับมากนัก

ซุนวูเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีชาติใดที่จะได้รับผลประโยชน์จากการทำสงครามระยะยาว” …เพราะขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วย่อมไม่เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดทั้งสิ้น !

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย