เจรจา RCEP ให้บรรลุเป้าหมาย

บทบรรณาธิการ


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ปิดฉากลงอย่างราบรื่น ตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นเฟ้นของ 10 ชาติอาเซียน ที่จะผนึกกำลังกันรับมือความเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย จากการแข่งขันทางการค้า การเมืองระหว่างประเทศ อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย รวมทั้งเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ไทยในฐานะประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพในการประชุมทำหน้าที่ได้สมเกียรติ นอกจากแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” จะได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาเซียนทุกมิติแล้ว การส่งเสริมอาเซียนเป็นแกนกลางของภูมิภาค และเพิ่มบทบาทอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับภูมิภาค และระดับโลกหลายเรื่องคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น

มีการร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล การเปิดตัวศูนย์ DELSA รับมือภัยพิบัติ และยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการ การจัดตั้งเครือข่ายสมาคมอาเซียนในประเทศสมาชิก เป็นต้น

ส่วนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ไทยต้องการผลักดันการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ แม้ผู้นำอาเซียนจะเห็นถึงความสำคัญ แต่ยังต้องจับตาดูว่าจะสัมฤทธิผลหรือไม่

เพราะหลังไม่ได้ร่วมเป็นสมาชิกความตกลง Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น CPTPP จากการถอนตัวของสหรัฐ ไทยมุ่งเน้นให้ RCEP ซึ่งเป็นความตกลงทางการค้าอาเซียน +6 หรืออาเซียนกับคู่เจรจา คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งล่าช้ามานานได้ข้อยุติโดยเร็ว

ล่าสุด ในการประชุมอาเซียนซัมมิต นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะโน้มน้าวให้ชาติอาเซียนสนับสนุนการเจรจา RCEP และยืนยันว่าไทยจะผลัก RCEP ให้บรรลุเป้าหมายภายในปีนี้ เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน และผลกระทบจากข้อพิพาทขัดแย้งทางการค้าแล้ว มาเลเซียกับจีนก็เห็นพ้องตรงกันกับไทย และเสนอให้เร่งเจรจา RCEP ให้บรรลุข้อตกลงเร็วที่สุดเช่นเดียวกัน

ด้วยการเดินหน้าหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 13 ประเทศ ยกเว้น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อลดข้อติดขัดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่ยังยืดเยื้อไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม ที่ต้องทำควบคู่เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองในภูมิภาคและระดับโลก คือสร้างความเข้มแข็งภายใน เพราะสิ่งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง