ศึกแห่งศักดิ์ศรี

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ประเสริฐ จารึก

เรียกเสียงซู้ดปากในชั่วข้ามคืน พลันที่กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ใจป้ำดัมพ์ราคา 21,948 ล้านบาท คว้าประมูลสัญญาจ้างก่อสร้างด่านและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ 2 สายทาง ระยะเวลา 30 ปี ด้วยวงเงิน 39,138 ล้านบาท

แยกเป็นสายบางปะอิน-นครราชสีมา ขอรับผลตอบแทน 21,329 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบราคากลาง 33,258 ล้านบาท อยู่ที่ 11,929 หรือ 36% และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ขอรับผลตอบแทน 17,809 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบราคากลาง 27,828 ล้านบาท อยู่ที่ 10,019 ล้านบาท หรือ 36%

พอผลราคาออกมามีเสียงเฮจาก “กรมทางหลวง” เพราะช่วยชาติประหยัดงบประมาณไปมากโข แต่หลายคนยังข้องใจ ทำไมถึงบ้าระห่ำหั่นราคาขนาดนี้ มี something หรือไม่

ในขณะที่กรมทางหลวงยันกรอบราคากลางได้ศึกษาคำนวณมาอย่างดี กรณีที่เอกชนกดราคาได้ต่ำ เป็นเรื่องการคิดต้นทุนได้ถูก

อะไรเป็นหมัดเด็ด BGSR ใช้มาเขย่าบัลลังก์ “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” เครือ ช.การช่างของ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจทางด่วนมานานจากการรับสัมปทาน 3 โครงการให้การทางพิเศษฯ

รวมถึงเสนอราคาตัดหน้ากลุ่ม UN-CCCC ที่ยูนิคฯ บิ๊กโฟร์รับเหมาควงไชน่า คอมมิวนิเคชั่นฯ ยักษ์วิสาหกิจทางด่วน-มอเตอร์เวย์จากจีน คู่แข่งที่น่ากลัว

ฉากหน้าว่ากันว่าเป็นเพราะ BGSR ได้เปรียบต้นทุนการเงิน เพราะเป็นการผนึกกำลัง 4 บริษัทมหาชนที่เงินทุนหนา มี บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ของเจ้าพ่อรถไฟฟ้า “คีรี กาญจนพาสน์” มหาเศรษฐีอันดับที่ 16 บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของเจ้าพ่อพลังงาน “สารัชถ์ รัตนาวะดี” มหาเศรษฐีเบอร์ 2 ของเมืองไทย บมจ.ซิโน-ไทยฯ บิ๊กทรีรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจใต้ปีก “ตระกูลชาญวีรกูล” และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ที่รีแบรนด์ชื่อเป็น “บมจ.ราช กรุ๊ป” ท็อปไฟฟ์ธุรกิจพลังงาน มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้นใหญ่ 45%

อีกเหตุผล คือ ระบบเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ แม้ว่ากลุ่มบีทีเอสจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจนี้ แต่ก็เชี่ยวชาญการบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้ามา 20 ปี รู้ว่าจะลดต้นทุนตรงไหน จึงเสนอราคาได้ถูก

สำหรับมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย “กลุ่มบีทีเอส” เสนอเก็บค่าผ่านทางเป็น “ระบบ free flow” ขาเข้าทั้งหมด แล้วไปจ่ายเงินที่ขาออก เรียกเก็บค่าผ่านทางผ่านป้ายทะเบียนรถยนต์หรือตัดจากบัญชีเงินฝากผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต เช่น บัตร Easy Pass บัตร M-Pass บัตรตั๋วร่วมบัตรแรบบิท จึงทำให้ใช้แรงงานคนน้อยสุด และลดต้นทุนก่อสร้างได้

“ระบบ free flow” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใช้กันแพร่หลายที่ต่างประเทศ เช่น ตุรกี จีน ไต้หวันแต่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะนำระบบนี้มาใช้นำร่องมอเตอร์เวย์ 2 สายจะคิกออฟในปี 2565-2566 เป็นการทรานส์ฟอร์มระบบเก็บเงินปัจจุบันจากระบบ manual ไปสู่ระบบที่ทันสมัย แก้รถติดที่กรมทางหลวงกำหนดเป็นไฟต์บังคับในการประมูล

โดยกลุ่มบีทีเอสเลือกใช้ระบบของล็อกซเล่ย์ จีน ไต้หวัน หากสำเร็จกรมทางหลวงจะนำไปใช้กับมอเตอร์เวย์ สาย 7 สาย 9 สายใหม่ ๆ ในอนาคต เป็นฉากหน้าทางธุรกิจที่พันธมิตรทั้ง 4 อยากจะชิมลางธุรกิจใหม่ สร้างฐานรายได้ให้มั่นคงใน 30 ปีข้างหน้า

ขณะที่ “เบื้องหลัง” มีคนกระซิบ งานนี้เป็นกลเกม “ศึกแห่งศักดิ์ศรี” ระหว่าง “เจ้าพ่อพลังงาน” ที่รวยล้นฟ้า กับ “เจ้าพ่อรับเหมาย่านสุทธิสาร” ที่ติดพันกันมาจากศึกชิงโรงไฟฟ้าที่ลาว ว่ากันว่าราคาที่ยื่นเสนอ “ซีอีโอกัลฟ์ฯ” ทุบโต๊ะเอง จะเอาราคานี้

แม้จะคว้าชัยมอเตอร์เวย์มาแบบขาดลอย แต่ไฟที่สุมทรวง “เจ้าพ่อพลังงาน” ยังไม่สงบ รอดูภาคต่องานประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีคิวเปิดให้เอกชนร่วม PPP 122,041 ล้านบาท ที่กลุ่มบีทีเอส และ BEM ก็หมายมั่นปั้นมือจะปาดเค้กก้อนใหญ่ด้วยกันทั้งคู่

ศึกแห่งศักดิ์ศรี ยักษ์ชนยักษ์เพิ่งจะเริ่มต้น !