ใช้เวทีอาเซียนซัมมิตสร้างความเชื่อมั่น

บทนำ

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นอกจากจะมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ กับผู้นำคู่เจรจาอีก 7 ประเทศเข้าร่วมประชุมแล้ว ยังมีคณะผู้แทนแต่ละประเทศ ภาคธุรกิจ ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ กองทัพสื่อมวลชน เข้าร่วมงานอีกจำนวนมาก

ทุกข่าวคราวความเคลื่อนไหวจึงอยู่ในความสนใจและเป็นที่จับตามองของทั่วโลก คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศจึงควรยินดีและให้การต้อนรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนต่างชาติที่มาเยือนในฐานะแขกคนสำคัญ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับประเทศ

เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพและประธานอาเซียน มีโอกาสแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการจัดงานสำคัญระดับภูมิภาคและระดับโลก

ก่อนส่งมอบบทบาทหน้าที่อันทรงเกียรติให้ประเทศเวียดนาม รับช่วงต่อเป็นประธานอาเซียนในปี 2020 หลังการประชุมอาเซียนซัมมิต ภายใต้แนวคิด “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ครั้งนี้ปิดฉากลง

ขณะเดียวกันควรใช้โอกาสในเวทีการประชุมที่มีหลายวาระ ทั้งแบบเต็มคณะ การประชุมสุดยอดอาเซียนบวก 3 ประชุมสุดยอดหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจาอย่าง จีน อินเดีย สหรัฐ ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ฯลฯ หารือประเด็นสำคัญ ๆ

ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างเป็นทางการ หรือการเจรจานอกรอบ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวมและประเทศชาติ อย่างกรณีปัญหาล่าสุด สหรัฐตัดจีเอสพีสินค้าส่งออกไทย ผลพวงจากการห้ามนำเข้า 3 สารพิษ

ที่สำคัญเพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุนทั่วโลกมีปัญหา การเปลี่ยนแปลงของโลกจากเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ฯลฯ อาเซียนจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแสวงหาโอกาสในวิกฤตและความท้าทาย

ต้องรวมพลังอาเซียน 10 ประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันรับมือการเข้ามามีบทบาทหรืออิทธิพลในภูมิภาคนี้ของประเทศมหาอำนาจ รวมพลังเจรจาต่อรองรักษาผลประโยชน์สมาชิก ให้อาเซียนซัมมิตเป็นเวทีแห่งการเจรจาความร่วมมือ การแก้ปัญหา และการหารืออย่างสร้างสรรค์สมเจตนารมณ์อาเซียน