ฟังเสียงสะท้อนในสภา-นอกสภา

บทบรรณาธิการ


อุณหภูมิการเมืองทวีความร้อนแรงขึ้น หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภา ระหว่าง 24-27 กุมภาพันธ์ เปิดฉาก ขณะที่บรรยากาศนอกสภาก็เข้มข้น เมื่ออดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมือง เปิดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนอกสภา ในนามคณะอนาคตใหม่

แม้จะเคลื่อนไหวคนละเวที แต่ทั้งพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นขอใช้สิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร กับกลุ่มทางการเมือง นิสิตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวนอกสภา ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และชี้ให้เห็นถึงปัญหาข้อผิดพลาดในการบริหารประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของคนระดับกลาง ระดับล่างที่ย่ำแย่ลง รัฐบาลจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถูกสบประมาทฝีมือความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.จึงถูกรุมถล่มหนัก

บวกกับครั้งนี้มีจุดอ่อนการเป็นรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ นอกจากต้องพะวงกับการแก้เกมทางการเมือง รวมทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่วิกฤตรุนแรงเหนือความคาดหมายอย่าง “โควิด-19” แล้ว รัฐมนตรีต่างพรรคที่ทำงานไปคนละทิศคนละทาง ไม่สอดประสาน กว่า 6 เดือนที่เข้าบริหารประเทศ จึงแทบไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

เป้าหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงพุ่งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและ รมว.กลาโหม ส่วน 5 รัฐมนตรีที่เป็นเป้ารอง ประกอบด้วย รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายวิษณุ เครืองาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ

ถือเป็นการทำหน้าที่ในสภาของพรรคฝ่ายค้าน เป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงต้องทำใจให้เปิดกว้าง น้อมรับการตรวจสอบ คำวิพากษ์วิจารณ์ และข้อท้วงติงในการการบริหารประเทศ ขณะเดียวกัน ต้องชี้แจงทำความเข้าประเด็นปัญหาให้ทุกภาคส่วนหมดความคลางแคลงใจ

ในสภาหากพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลต่างคนต่างทำตามบทบาทหน้าที่ อยู่ในกฎไม่เล่นนอกเหนือกติกา การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาแต่ละกลุ่มอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ทำตามสิทธิ หน้าที่ ในฐานะเป็นประชาชนคนไทย สิ่งที่หลายฝ่ายรู้สึกกังวลใจจะไม่เกิดขึ้น

ตรงกันข้ามจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ประชาธิปไตย ยกระดับการเมืองไทยไปอีกขั้น ที่สำคัญ หากทุกฝ่ายเดินตามกฎไม่นอกเกม โอกาสที่วิกฤตการเมืองจะซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจให้ย่ำแย่กว่านี้คงยาก