ปลดล็อกเจลล้างมือ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

 

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลงในเร็ว ๆ วันนี้ ความต้องการ “เครื่องป้องกัน” ความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และเจลล้างมือ ก็มีเพิ่มขึ้น นับเป็นเท่าทวีคูณ แต่เป็นที่น่ายินดีว่า กระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการ ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2563

โดยประกาศฉบับนี้มีสาระสำคัญอยู่ที่ให้ “เครื่องสำอาง” ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือหรือเจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล (ethyl alcohol หรือ ethanol)) หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์หรือไอโซโพรพานอล (isopropyl alcohol หรือ isopropanol)) หรือเอ็นโพรพิลแอลกอฮอล์หรือเอ็น-โพรพานอล (N-propyl alcohol หรือ N-propanol) ทั้งแบบสารเดียวหรือผสมหลายสาร “ต่ำกว่า” ร้อยละ 70 โดยปริมาตร (volume by volume) เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย

Advertisment

ถ้าอ่านประกาศของทางราชการแบบนี้แล้วจะงง แต่ถ้าพูดแบบชาวบ้านง่าย ๆ ก็คือ เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ผสม “มากกว่า” ร้อยละ 70 จัดเป็นเครื่องสำอางที่สามารถผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย เท่ากับเป็นการ “ปลดล็อก” ให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางสามารถผลิตเจลล้างมือได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จากเดิมที่เจลล้างมือถือเป็นเครื่องมือแพทย์ ผู้ผลิตจำหน่ายต้องได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขก่อน แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก ส่งผลให้แอลกอฮอล์และเจลล้างมือขาดแคลน เกิดการกักตุน ราคาเจลล้างมือจากขวดละไม่กี่บาทพุ่งขึ้นไปเป็นขวดละหลายร้อยบาท เรียกว่า ราคาปรับขึ้นเป็นรายวัน แม้กรมการค้าภายใน โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จะประกาศให้เจลล้างมือหรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือเป็น “สินค้าควบคุม” ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนหรือการปรับขึ้นราคาได้

การออกประกาศให้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 70% ขึ้นไป (เพื่อฆ่าเชื้อโควิด-19) จาก “เครื่องมือแพทย์” มาเป็น “เครื่องสำอาง” เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้โรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางทั้งในและนอกประเทศ สามารถผลิตหรือสั่งนำเข้ามาจำหน่ายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเจลล้างมือได้โดยตรง

แต่สิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการต่อไปก็คือ กรมการค้าภายในจะต้องเข้าไปตรวจสอบราคาจำหน่ายปลีกเจลล้างมือในท้องตลาดว่ามีการจำหน่ายเกินสมควรหรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกสูงสุด คณะกรรมการกลางเพียงแต่นำเอาเจลล้างมือเข้ามาขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุมเท่านั้น เข้าใจว่ายังไม่ได้ลงไปควบคุมเข้มงวดเหมือนกับในกรณีของหน้ากากอนามัย ที่ให้รายงานปริมาณครอบครองสต๊อก การจำหน่าย รวมไปถึงการกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด

Advertisment

การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้น่าจะเป็นการใช้มาตรการทางด้านการบริหารเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา หากประสบความสำเร็จ ราคาเจลล้างมือจะลดลงมาทันที สินค้าจะกลับคืนมาสู่ตลาด เนื่องจากไทยมีผู้ผลิตเครื่องสำอางภายในประเทศอยู่เป็นจำนวนมากและมีอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์และเอทานอลที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ยังมีข่าวดีเพื่อใช้ในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 อีกข่าวหนึ่ง โดยกรมสรรพสามิตได้ขอบริจาค “แอลกอฮอล์” จากโรงงานในประเทศจำนวน 300,000 ลิตร เพื่อนำมาผสมน้ำเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยจะแจกจ่ายผ่านสรรพสามิตพื้นที่ทุกจังหวัด จำกัดปริมาณคนละ1 ลิตรเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน และทางกรมสรรพสามิตเองก็ยังมีนโยบายให้ใช้แอลกอฮอล์หรือ “สุราสามทับ” นำไปผลิตเป็นเจลล้างมือด้วย