ซอฟต์โลนท่องเที่ยว ปัญหาที่เรามองต่างมุม

ภาพสนามบิน ประกอบข่าวห้าม เครื่องบินเข้าไทย
แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

เป็นประเด็นปัญหาที่น่าเห็นใจทุกฝ่ายจริง ๆ สำหรับโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน สำหรับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยว

และดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาที่ทุกฝ่าย “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” และเดินหน้าต่อไม่ได้ ทั้งในฟากของผู้ประกอบการเอง และฟากของสถาบันการเงิน

เพราะหากติดตามข่าวต่อเนื่องจะพบว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกสาขาอาชีพเริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงตรุษจีน ปลายเดือนมกราคม เข้าสู่กุมภาพันธ์-มีนาคม ก็เริ่มเกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะขาด “รายได้ใหม่” เข้ามาเป็นเงินหมุนเวียน

งานหนักจึงตกอยู่ที่ตัวแทนสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ต้องเดินสายเจรจากับหน่วยงานรัฐ และสถาบันการเงินเพื่อขอความช่วยเหลือ และร้องขอให้รัฐช่วยพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงกันวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวได้กู้มาใช้จ่ายและประคับประคองให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อได้

ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย ทยอยออกนโยบายช่วยเหลือดูแล พร้อมกำหนดวงเงินซอฟต์โลนมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์โลนลอตแรก วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี (2 ปี) ซึ่งแบ่งให้แบงก์ออมสินปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาท (วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท)

พร้อมให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน

รวมถึงมาตรการล่าสุดที่ออกสินเชื่อใหม่ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี โดยรอบนี้เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการขอยื่นกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 500 ล้านบาท

แต่ก็ยังดูเหมือนว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นระลอกนั้น เป็นเพียงแค่การสร้าง “ความหวัง” ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใดเข้าถึงซอฟต์โลนเลยแม้แต่รายเดียว

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น ? รัฐบาลทอดทิ้งคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรืออย่างไร ?

คำตอบคือ สถาบันการเงินทุกแห่งยังคงใช้กฎเกณฑ์เดิมในการพิจารณาปล่อยกู้ ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ หรือราว 80-90% เป็นเอสเอ็มอี จึงไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันการเงิน

พูดง่าย ๆ คือว่า หากสถาบันการเงินยังยึดเกณฑ์พิจารณาปล่อยกู้แบบปกติ ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่ หรือราว 80-90% ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้แน่นอน

แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ?

เหตุผลง่าย ๆ คือ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณไม่ดีมาเป็นระยะ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจาก “ค่าบาท” ที่แข็งค่ามาต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อมาเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 อีกระลอกใหญ่แบบนี้ ทำให้สถาบันการเงินยิ่งต้องตีกรอบการปล่อยกู้ให้รอบคอบยิ่งขึ้น

ประมาณว่า พร้อมตั้งรับเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)

ซึ่งหากติดตามข่าวจะพบว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “แบงก์ชาติ” ได้ส่งสัญญาณไปยังกระทรวงการคลัง, สมาคมธนาคารไทย และแบงก์พาณิชย์ต่าง ๆ ให้ตั้งรับให้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว

ปัญหานี้หากเรามองในมุมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า ท่องเที่ยวเป็นธุรกิจกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการช่วยเหลือ ดูแล ก็คงไม่ผิดนัก

เพราะรัฐบาลเองก็ยอมรับ และบอกมาตลอดว่า “ท่องเที่ยว” ถือเป็นเครื่องยนต์ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่ในมุมของสถาบันการเงินน่าจะมองในมุมที่ว่า ในห้วงเวลานี้ “ท่องเที่ยว” เป็นธุรกิจที่อ่อนไหว มีความเสี่ยงสูง เพราะยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ชัดเจนว่า ทั่วโลกจะเกิดการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง เมื่อไหร่ และหลังโควิด บริบทการท่องเที่ยวของประเทศจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน โอกาสในการสร้างรายได้จะกลับมาเหมือน
ในอดีตหรือไม่ ปล่อยกู้ไปแล้วจะเกิดเป็น “หนี้เสีย” หรือเปล่า ? ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายคนเข้าใจ และยอมรับว่า “ท่องเที่ยว” เป็นธุรกิจที่เสี่ยงมากในมุมของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัททัวร์ เพราะเป็นธุรกิจที่ “เปิดง่าย” และ “ปิดง่าย” มาก ๆ

ที่สำคัญก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรายงานงบการเงิน ไม่แสดงบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน แถมบางรายยังเป็น “นอมินี” ของต่างชาติ ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” และเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ยาก

ดังนั้นผู้เขียนมองว่า ทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน และเอกชน นึกถึง “ใจเขา ใจเรา” และหาทางออกร่วมกันว่ายังมีช่องทางไหนบ้าง ที่พอจะช่วย “อุ้ม” ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยยังเดินต่อไปได้ ในวันที่ท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ที่สำคัญ มองว่าภาครัฐน่าจะถือโอกาสวิกฤตรอบนี้ ปรับโครงสร้างและจัดระเบียบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศทั้งระบบใหม่ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงในอนาคตด้วย…