หนุ่มเมืองจันท์ : ปิดหรือเปิด

บทวิเคราะห์ ธุรกิจร้านอาหาร ยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่
คอลัมน์ Market-think
โดย สรกล อดุลยานนท์

รัฐบาลตอนนี้เดินมาถึงทางแยกที่ต้องเลือกเดิน

ระหว่างการปิดเมืองเหมือนเดิม

หรือการคลายล็อกให้ภาคธุรกิจได้ขยับตัวบ้าง

กลายเป็นปัญหาใหม่ของรัฐบาล

แต่เป็น “ปัญหา” ที่ถือว่าเป็น Good Problem

เพราะถ้าตัวเลขคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ เหลือแค่วันละ 10 กว่าคน

คำถามว่าควรจะคลายล็อกดีหรือไม่คงไม่เกิดขึ้น

วันนี้สถิติคนไข้ที่รักษาหายและออกจากโรงพยาบาลสูงกว่าคนติดเชื้อรายใหม่

ทำให้ตอนนี้มีคนป่วยเหลืออยู่เพียง 300 กว่าคน

ต้องชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ของไทย

…เก่งจริง ๆ

และต้องให้คะแนนกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

แม้การตัดสินใจหลายเรื่องอาจช้าไป แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดที่ทุกประเทศในโลกไม่เคยเจอมาก่อน

ผลที่ออกมาเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ต้องยอมรับว่าอยู่ในขั้นดีมาก

แต่ที่คะแนนยัง “ติดลบ” อยู่ก็คือ เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

การช่วยเหลือ “คนจน” และคนที่เดือดร้อนช้ามาก

แต่พอช่วยเหลือเรื่อง “ค่าไฟ” ซึ่งคนที่เสียงดังที่สุด คือ “คนเมือง”

รัฐบาลใช้เวลาตัดสินใจเพียง 2 วันเท่านั้น

ทั้งที่ใช้งบประมาณถึง 20,000 กว่าล้านบาท

ไม่มีการคัดกรองให้ยุ่งยากเหมือนกันกับมาตรการ 5,000 บาท ที่ซับซ้อนและล่าช้าอย่างยิ่ง

เศรษฐกิจตอนนี้หนักมาก คนเดือดร้อนไปทั่ว

ไม่ว่าธุรกิจขนาดย่อมหรือขนาดใหญ่

ไม่ว่าคนหาเช้ากินค่ำหรือนักธุรกิจใหญ่

ช่วงที่ประกาศ “ปิดเมือง” ทุกคนเข้าใจว่า “จำเป็น”

แต่เมื่อตัวเลขคนติดเชื้อรายใหม่ลดลง คนก็เริ่มตั้งคำถามว่าเราควรเปิดเมืองได้แล้วหรือยัง

ถ้าใครได้อ่านเฟซบุ๊กของ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันก่อนจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี

“หมอเลี้ยบ” เป็นทั้งคุณหมอและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค รู้ข้อมูลด้านสาธารณสุขอย่างดี

เป็นนักการเมืองที่คลุกคลีกับประชาชน

เป็นนักธุรกิจ

เขามองว่าระบบสาธารณสุขของไทยตอนนี้รับมือกับไวรัสโควิดได้แล้ว

“เรามี 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ป่วยโควิด

แม้แต่คนเดียว

เรามี 36 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่มาแล้ว 14 วัน

เราเห็นผู้คนใส่หน้ากากอนามัยและเฟซชีลด์กันเกิน 90% เราเห็นแอลกอฮอล์เจลล้างมือทั่วทุกหนแห่ง

เรามีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,040,000 คนทั่วประเทศที่เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อและค้นหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อกักกันตัว 14 วัน

เราตรวจ RT-PCR หาเชื้อไวรัสมาแล้ว 142,589 ตัวอย่าง (ตัวเลข ณ วันที่ 17 เมษายน) และมีขีดความสามารถตรวจได้วันละ 20,000 ตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อเพียง 3,000 – 4,000 ตัวอย่าง (ทั้ง ๆ ที่เกณฑ์ตรวจเชื้อเปิดกว้างมากแล้ว) ดังนั้นจึงมีขีดความสามารถคงเหลืออีก 16,000 ตัวอย่างต่อวัน

วันนี้เรามีเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิดทั้งประเทศ 15,095 เตียง เป็น เตียง ICU 4,681 เตียง, ห้องแยก Isolation Room 3,748 เตียง, ห้องผู้ป่วยรวม Cohort Ward 4,533 เตียง, Hospitel (กรุงเทพมหานคร) 522 เตียง และเตียงสนาม (ต่างจังหวัด) 1,611 เตียง

และเรามีเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) รองรับผู้ป่วยโควิด 12,735 เครื่อง

จากข้อมูลข้างต้นนี้ เราพร้อม “เปิดเมือง” อย่างมีขั้นตอนและปลอดภัยตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขหรือยัง

ผมตอบได้เลยว่า “ยิ่งกว่าพร้อม”…

ครับ เห็นข้อมูลของ “หมอเลี้ยบ” แล้วชัดเจนมากว่าเราพร้อมที่ค่อยๆคลายล็อกให้กับภาคธุรกิจแล้ว

แน่นอน ไม่มีใครคิดว่าจะเปิดกว้าง 100% เหมือนก่อนการปิดเมือง

ทุกคนยอมรับว่าต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อขึ้นอีก

ไม่ต้องเปิดหมด

แต่ควรจะคลายล็อกให้หายอึดอัดบ้าง

ไม่เช่นนั้นตัวเลขคนฆ่าตัวตายจากปัญหาเศรษฐกิจ

จะมากกว่าคนตายเพราะไวรัสโควิด