ปรับโหมดสู้ “โควิด-19”

FILE PHOTO: Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

 

ทำไปทำมาแผนรีสตาร์ตธุรกิจที่ทุกฝ่ายตั้งหน้าตั้งตารอ ทำท่าจะเป็นแค่ wait & see เสียมากกว่า

นอกจากภาพความคึกคักมุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ในโมเดิร์นเทรดค้าส่งใหญ่ ๆ ที่ปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ ที่เหลือบรรยากาศกลับดูเนือย ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาร้านอาหารที่เจอกฎเกณฑ์เข้มงวด ต้องรักษาระยะห่างเอาไว้ มาด้วยกันแต่ไม่สามารถนั่งใกล้ ๆ กันเหมือนก่อน ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่กล้าออกตัวแรง ประกอบกับผู้คนยังแหยง ๆ
กับไวรัสโควิด-19 เลือกใช้วิธีซื้อกลับไปกินที่บ้านเหมือนเดิม

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการเต็มรูปแบบ

เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่มีภาพช็อปปิ้ง จับจ่าย หรือออกไปกินข้าวนอกบ้าน ทำให้บรรยากาศโดยรวมขาดสีสัน

นักธุรกิจบิ๊กเนมหลาย ๆ คนเชื่อว่า การใช้ชีวิตผู้คนจะเป็นแบบนี้ไปอีกพักใหญ่ ๆ อารมณ์หนึ่งก็อยากเจอเพื่อน อยากพูดคุยสังสรรค์ อีกอารมณ์ยังกลัว ๆ ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของบ้านเราจะลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไว้วางใจอะไรไม่ได้

ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูจากสิงคโปร์ ดูจากญี่ปุ่น จากที่เคยควบคุมสถานการณ์เอาไว้ แต่วันนี้กลายเป็นหนังคนละม้วน

บิ๊กเนมอีกรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ธุรกิจภายใต้ความดูแลของเจ้าตัว ซึ่งมีพนักงานเกี่ยวข้องหลายพันชีวิต สินค้าและบริการได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าคนอื่น ๆ มีโอกาสยึดแนวทางทำงานที่บ้าน work from home ต่อไป แต่จะปรับแผนใหม่ ใช้วิธีแบ่งคนเป็นทีม A และ B

สลับ “ครึ่ง-ครึ่ง” ระหว่างทำงานที่บ้าน และออฟฟิศ

กระทั่งไวรัสโควิด-19 ถูกควบคุมได้แล้วจริง ๆ ค่อยมาว่ากันอีกที

ในภาพใหญ่ เรายังเห็นผู้ประกอบการที่เคยมีบทเรียนประเทศไทยเจอวิกฤตเมื่อครั้งปี 2540 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการคอนโดฯ-ห้องชุด พากันเหยียบเบรกแผนลงทุน เคลียร์สต๊อกห้องที่ปล่อยไม่ออก หั่นราคาแบบไม่เอากำไร เพื่อให้ตัวเบา

แม้แต่พี่ใหญ่ศูนย์การค้าที่เงินทุนแข็งแรง ยังใช้วิธียืดเครดิตค่าสินค้าดื้อ ๆ เพื่อดึงเงินสดไว้ในมือให้นานที่สุด เหนื่อยกว่าคนอื่นกลายเป็นรายย่อยที่ไม่มีอำนาจต่อรอง

นักธุรกิจอีกรายรวบรัดว่า เมื่อยังมองไม่เห็นฝั่ง ไม่รู้ว่าไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงเมื่อไหร่กันแน่ การเก็บเงินสดไว้เป็นทุนสำรอง

จึงเป็นแนวทางเพลย์เซฟที่สุด

สำหรับ “ตัน-อิชิตัน” ที่เคยผ่านประสบการณ์มาแล้วมากมาย มองว่าไวรัสโควิด-19 คือ หายนะยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ซับไพรม ฯลฯ และวิกฤตอื่น ๆ รวมกัน

“ตอนน้ำท่วมเรายังเห็นว่าน้ำเริ่มที่จะไหลลงมาแล้ว แต่วันนี้บางประเทศยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่เลย ส่วนวัคซีนต้องรอไปอีกปีครึ่ง แต่หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว เรากล้านั่งเครื่องบินไปเที่ยวอิตาลีเลยมั้ย ? เพราะฉะนั้น เรายังคงต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน”

ผู้ปลุกปั้นเครื่องดื่มอิชิตัน มองภาพหลังโควิดไว้น่าคิดว่า “คนรวยมาก จะรวยน้อยลง คนเคยมีเงินก็อาจมีหนี้ ส่วนคนที่มีหนี้ก็จะมีหนี้มากขึ้น ดังนั้น ระบบการใช้จ่าย หรือกำลังซื้อจะลดลงตามไปด้วย”

โควิด-19 จึงไม่ใช่เกมสั้นอย่างแน่นอน

เมื่อไม่ใช่เกมที่จบลงภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว สายป่านจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องใด ๆ

เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจที่การ wait & see รอคลื่นลมสงบ ไม่ยอมผลีผลาม อาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้มากที่สุด ก็เป็นได้