คำถามสังคม…ถึงเรือดำน้ำ

ชั้น 5 ประชาชาติ

กษมา ประชาชาติ

ตอนนี้ประเด็นเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง เป็นปัญหาร้อนแรงไม่แพ้ประเด็นสุขภาพและเป็นแรงกดดันการทำงานของรัฐบาล ประยุทธ์ 2/2 และมือเศรษฐกิจใหม่ ทันทีที่ก้าวรับตำแหน่ง “การว่างงาน” ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แรงงานเดิมตกงาน บัณฑิตใหม่เตะฝุ่น 4-5 แสนคน ลามสู่ปัญหากำลังซื้อ หนี้สิน การเบี้ยวหนี้ การก่ออาชญากรรมที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวรายวัน

“ทีมเศรษฐกิจ” ออกสตาร์ตแก้ปัญหาว่างงานทันที โดยระดมทุกหน่วยงานจัดโครงการสร้างงาน ดึงเอกชนบิ๊กธุรกิจมาช่วยจ้าง พร้อมสูตรรัฐช่วยจ่ายครึ่งหนึ่งนโยบายนี้ฟื้นฟูกำลังใจกลับมาได้บ้าง

แต่ก็ยังอยู่ในภาวะ “งานระยะสั้นก็ไม่ดี แผนระยะยาวก็ไม่มี” นโยบายหลักที่ต้องตัดสินใจหลายเรื่องถูกชะลอไว้ก่อน บางเรื่องยังไม่ชัดเจน อาทิ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างปัญหาน้ำแต่ละปีหนีไม่พ้นจะต้องมาลุ้นฟ้าฝนกันว่า ฝนจะมาพอไหม น้ำจะท่วมไหม แล้วก็เยียวยากันเป็นปี ๆ ไป

Advertisment

แต่อยู่ ๆ ก็ปรากฏข้อมูลว่าจะมีการนำเข้าเรือดำน้ำ 2 ลำ 2 หมื่นล้าน จ่อรอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่ดูแลด้านงบประมาณ ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ถามว่ากระทบความรู้สึกประชาชนแค่ไหนคงไม่ต้องอธิบาย

แม้ว่าจะใช้ระบบผ่อนจ่าย หรือจะให้เหตุผลว่า เพื่อนบ้านมีเราก็ต้องมี เช่น เวียดนามมี 6 ลำ อินโดนีเซียมี 5 ลำ จะซื้อเพิ่มอีก 4 ลำ มาเลเซียมี 2 ลำ สิงคโปร์มี 4 ลำ จะซื้อเพิ่มอีก 4 ลำ หรือแม้แต่เมียนมามี 4 ลำ กำลังซื้อเพิ่ม 1 ลำ หรือเพื่อการดูแลผลประโยชน์จากพื้นที่ทางทะเล 24 ล้านล้านบาท

ก็ตามแต่ ก็ยังเกิดคำถามตามมาอยู่ดี เพราะบางเรื่องที่เพื่อนบ้านมีไทยก็ยังไม่มี เช่น CPTPP ที่ลากยาวไม่ได้ข้อสรุป

“จริงอยู่ ที่จำนวนเงิน 2 หมื่นล้านอาจไม่สูง คิดเป็นเพียงสัดส่วนไม่ถึง1% เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางทะเล”

Advertisment

แต่หากเทียบกับตัวเลข-งบประมาณประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน 2 เฟส 13,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม 3-4 แสนครัวเรือนหรืองบประมาณส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เช่น

-งบประมาณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 ได้ 176.2 ล้านบาท

-งบประมาณกรมการข้าวในด้านแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ปี 2563 ที่ได้ 237 ล้านบาทแล้วจะพัฒนาพันธุ์ข้าวแข่งกับเวียดนามอย่างไร

-งบประมาณสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการจัดทำแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 20 ล้านบาทหรืองบประมาณแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว หรืองบบรรเทาสาธารณภัยอย่างเช่น

-งบประมาณกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 6,094 ล้านบาท

-งบประมาณกรมควบคุมมลพิษปี 2563 ได้ 514.7 ล้านบาท การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะทำได้แค่ไหน

หรืองบประมาณเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่น

-งบประมาณกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 503 ล้านบาท

-งบประมาณโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ (กองทุน FTA) เยียวยาผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า 427 ล้านบาทหรือแม้แต่งบประมาณด้านสังคม เช่น

-งบประมาณกรมศาสนา 373 ล้านบาทหากทุกหน่วยงานยืนยันว่า “งบฯที่ขอ”

คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์เทียบกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หลักหลายล้านล้านเช่นเดียวกัน แล้วอย่างนี้จะเอาไม้บรรทัดอะไรมาวัด

ถ้ามี “เรือดำน้ำ” อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องปรามประเทศได้ แต่การดูแล “ความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตที่ดี ความสามัคคีของคนไทย” ก็จะเป็นเกราะป้องกันประเทศได้เช่นกัน