การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่องปัจจัยบวก-ลบ หลัง ‘โควิด-19’

ช่วยกันคิด

ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

จีนนั้นได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 1 เพราะการระบาดรุนแรงและมีการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงมีนาคม 2563 ทำให้จีดีพีลดลง 6.8% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากที่ขยายตัว 6% ในส่วนของผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจของจีนนั้นจะเห็นว่า ในช่วงที่จีนปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ (55 วัน) นั้น

ธุรกิจท่องเที่ยว การขนส่ง การบริโภคโดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ได้รับผลกระทบรุนแรงการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ถูกกระทบเช่นกัน โดยติดลบถึง 14% (จากที่ขยายตัว 5-7%) เพราะการปิดเมืองถึง 25 เมืองและจำกัดการเดินทาง ทำให้โรงงานต่าง ๆต้องปิดตัว กระทบกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้นมีสัดส่วนถึง 28% ของจีดีพี

เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวหลังจากปลดล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว 3.2% หลังจากหดตัวในไตรมาส 1 โดยมีการฟื้นตัว ดังนี้

-ภาคการผลิตกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากเปิดเมืองโรงงานต่าง ๆ กลับมาผลิตสินค้าโดยบริษัทขนาดใหญ่สามารถเดินสายการผลิตได้เกือบ 100% และธุรกิจขนาดเล็กก็สามารถกลับมาเปิดกิจการและผลิตได้กว่า 80% ได้ภายในเวลาเพียง 1 เดือน การผลิตกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 4-5% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 การผลิตฟื้นตัวอย่างชัดเจนในกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากโควิด และการที่คนเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านมากขึ้น คือ สินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ หน้ากากอนามัย คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

-การส่งออกค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่ธุรกิจ และโรงงานเริ่มกลับมาเดินสายการผลิต การคมนาคม ขนส่งเริ่มเปิดตามปกติ โดยการส่งออกในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2563 ลดลง 17% กลับมาหดตัวน้อยลงในช่วงไตรมาส 2 และขยายตัว 7% ในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ (+78%) โทรศัพท์มือถือ (+43%) อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ประมวลผล (+20%) เป็นต้น

-การลงทุน : ภาคการก่อสร้างฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่องนับแต่เดือนพฤษภาคม 2563 โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่นที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยก็ขยายตัวตามปริมาณความต้องการซื้อที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม -3% และคาดว่าการลงทุนภาคการผลิตอุตสาหกรรมน่าจะฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากบางอุตสาหกรรมน่าจะมีแผนการย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนมากเกินไป

-การบริโภคโดยรวมยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน : ยอดค้าปลีกรวมยังคงหดตัว4% ในไตรมาส 2 และติดลบ 1% ในเดือนกรกฎาคม 2563 แต่การซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น (+7% ในไตรมาส 2) ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้า สินค้าแฟชั่นและสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ ปรับตัวลดลง ซึ่งแสดงถึงความกังวลในเรื่องรายได้ในอนาคต

ส่วนยอดขายรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น น่าจะเป็นผลจากการชะลอซื้อในช่วงปีก่อนหน้า ส่วนความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้แรงกระตุ้นจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของภาครัฐ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มทรงตัวอาจจะกลับมาเข้มงวดและคุมการเก็งกำไรอีกครั้ง

-ธุรกิจโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโรคโควิด เริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้างจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 10% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็น 60% ในเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 5 ดาว

ในพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 80% ผู้ประกอบการโรงแรมยังมีมุมมองในด้านบวกต่อการฟื้นตัว เพราะคาดว่ารัฐบาลน่าจะยังไม่เปิดให้มีการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ ทำให้ชาวจีนหันมาเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ธุรกิจด้านการจัดงานประชุม สัมมนา (MICE) และร้านอาหารยังฟื้นตัวได้ช้าข้อสังเกตของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน คือ

1.ภาคการผลิตซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนกลับมาผลิตสินค้าได้ตามปกติ

2.จีนเป็นฐานการผลิตสำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือแพทย์ ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้เร็ว

3.ภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งแจกคูปองเงินสดช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทดแทนการชะลอตัวของการลงทุนเอกชน

4.จีนมีตลาดภายในประเทศใหญ่ ทำให้นโยบายกระตุ้นการบริโภคในประเทศสามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่ความกังวลเรื่องรายได้ในอนาคตน่าจะทำให้การบริโภคฟื้นตัวได้ช้า

5.ในบางพื้นที่ยังคงพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะ แต่รัฐบาลมีมาตรการควบคุมเฉพาะพื้นที่ ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ขยายวงกว้าง