บทบรรณาธิการ: งบฯ ปี’64 ล่าช้า รัฐบาลสอบตกซ้ำ

นายกฯ
แฟ้มภาพ)

บทบรรณาธิการ

หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา ประกาศบังคับใช้ได้ทันวันที่ 1 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันแรกของปีงบประมาณ ไม่ซ้ำรอย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ล่าช้ากว่ากำหนดเกือบ 4 เดือน เวลาก็คงเฉียดฉิว ต้องลุ้นกันใจหายใจคว่ำ

ในทางปฏิบัติแม้สำนักงบประมาณจะชี้แจงว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่มีปัญหา เพราะสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนด เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ การใช้งบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อนสามารถทำได้ โดยการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี แต่อาจกระทบความเชื่อมั่นทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน

เนื่องจากก่อนหน้านี้สาธารณชนเพิ่งทราบข่าวการเลื่อนระยะเวลาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการ จากปกติจะจ่ายเงินเข้าบัญชีผู้สูงอายุ และคนพิการ ทุกวันที่ 10 ของเดือน แต่เดือนนี้จะจ่ายเงินเข้าบัญชีวันที่ 22 ก.ย.แทน สาเหตุมาจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีเงินไม่เพียงพอ

แม้กรณีนี้จะเลื่อนระยะเวลาออกไปไม่กี่วัน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายการอื่น มาจ่ายให้ผู้สูงอายุ กับคนพิการเพื่อแก้ปัญหา แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ คำครหา และการตั้งข้อสงสัยในทำนองรัฐบาลถังแตก ส่งผลกระทบด้านลบกับภาครัฐโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง

สำหรับความล่าช้าในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แม้จะมาจากกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณาในสภา ซึ่งมีทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แต่ต้องยอมรับว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลในฐานะเป็นผู้บริหารจัดการประเทศ ถูกคัดค้าน ท้วงติงว่า จัดสรรงบฯบางรายการไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่กำลังเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และโควิด-19

จริงอยู่ที่ความล่าช้าในการประกาศบังคับใช้กฎหมายงบประมาณช่วงสั้น ๆ ไม่ได้ทำให้การเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐมีปัญหาถึงขั้นติดขัด แต่ต้องไม่ลืมว่าในสถานการณ์ที่ไม่เป็นปกติอย่างเวลานี้ ภาคเอกชนไม่ว่าไทย ต่างชาติ ต่างได้รับผลกระทบ และไม่เชื่อมั่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ จำต้องรับบทเป็นหัวหอกในการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุน

แต่เมื่องบประมาณออกมาล่าช้า จึงเสี่ยงที่การลงทุนภาครัฐ เครื่องยนต์หลักเครื่องเดียวที่ยังเหลืออยู่อาจเบิกจ่ายได้ไม่คล่องตัว หรือสะดุด ขณะที่การบริโภค การส่งออก การลงทุนภาคเอกชนยังฟุบไม่ฟื้น มีโอกาสที่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบจะดับสนิท ไม่สามารถเดินหน้าต่อ หากเป็นอย่างนั้นภาพรวมจะยิ่งแย่ รัฐบาลสอบตกซ้ำ เพราะไม่นำบทเรียนปีก่อนมาปรับแก้