โควิดระลอกใหม่…ฝันปิดฉากปัญหา ‘แรงงานเถื่อน’

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
กฤษณา ไพฑูรย์

เพียงสัปดาห์เดียวการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากต้นตอใหญ่ “แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา” ที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายในจังหวัดสมุทรสาคร หรือที่รู้จักดีในชื่อ “มหาชัย”

จากวันแรก 17 ธันวาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นไป 13 คน พอตกบ่าย ๆ ของวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มส่งสัญญาณการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ โดยบอกว่า ตอนนี้ตัวเลขอยู่ในช่วงขาขึ้น 13 รายยังไม่จบ อาจจะ 80-200 คน หรือมากกว่านั้น ยังไม่สามารถบอกตัวเลขได้ว่าเท่าไหร่ ยิ่งตรวจคัดกรองมากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อย่าตกใจ !

การแถลงข่าวรวมการเฉพาะกิจเวลา 3 ทุ่มในคืนวันเสาร์กับตัวเลขพบแรงงานเมียนมาติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นไปถึง 548 คน !! 

หลายคนไม่ได้ตกใจธรรมดา แต่อาจเกิดอาการ ช็อกสุดขีด ! เพราะธุรกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัวในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบในวันรุ่งขึ้นทันที ! โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมต่าง ๆ ถูกยกเลิกการจองในช่วงหยุดปีใหม่ ธุรกิจร้านอาหารทะเลต่าง ๆ เกิดอาการแพนิกและหวาดวิตกของคนไทยทั่วประเทศ ขณะที่ผู้บริหาร 6,082 โรงงานในมหาชัย รับทราบตัวเลขนี้กันไปบางส่วนแล้ว

ล่าสุดการพบผู้ติดเชื้อทะลุหลักพันไปอย่างที่หลายคนคาดไว้ได้ไม่ยาก หลังจากทางจังหวัดสมุทรสาครและกระทรวงสาธารณสุขเข้าไป “ล้อมคอก” เร่งค้นหาเชื้อโควิดเชิงรุก ! โดยตั้งเป้าสำรวจเบื้องต้น 10,000 คน ซึ่งสำเร็จไปแล้ว

แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้มีการเรียกร้องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานต่างด้าวให้เข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากมีความกังวล แต่ภายในนิคมมีจำนวนโรงงานกว่า 130 แห่ง หากมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 1 คน ตามหลักสาธารณสุขต้องขีดวงสั่งปิดโรงงานทั้งนิคม เนื่องจากแหล่งที่พักของคนงานในนิคมพักอยู่รวมกัน คล้าย ๆ บริเวณ “หอพักศรีเมือง” เรื่องนี้จึงกำลังเร่งหาทางออกร่วมกันว่า จะทำอย่างไรต่อไป เพราะเกรงจะกระทบการส่งออก ซึ่งปีนี้ลดลงมากอยู่แล้ว

ขณะที่ตัวเลขแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครนั้น ทุกคนในจังหวัดทราบดีว่า มีเฉียด 4 แสนคน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 233,071 คน ที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่เคยมีใบอนุญาตถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้ต่อใบอนุญาต และแรงงานที่ลักลอบเข้ามาที่ไม่เคยมีใบอนุญาต

โดยแรงงานต่างด้าวในมหาชัยส่วนใหญ่เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา เข้ามาทำตั้งแต่ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับประมงเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือกระจายไปตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ สวนเกษตร ก่อสร้าง ภาคบริการ ร้านอาหาร ท่องเที่ยว รวมถึง “คนทำงานบ้าน” ฯลฯ

แหล่งข่าวจากจังหวัดสมุทรสาครเล่าให้ฟังว่า กระบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย ทั้งเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ได้หยั่งรากลึกมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้วในหลายธุรกิจ

โดยทำเป็นกระบวนการนำเข้า มีบริษัทนายหน้าจัดหา กินค่าหัวคิวทั้งแบบจ่ายสดและผ่อนชำระ โดยเมื่อมาถึงประเทศไทยมีการจัดหางานให้ทำ และให้ผ่อนเป็นระบบรายเดือน ในยุคก่อนโควิดตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อหัวต่อคน หลายธุรกิจยอมจ่ายเงินค่าหัวคิวและเงินใต้โต๊ะให้ผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับการได้แรงงานเถื่อนมาใช้งาน ถูกกว่าระบบนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งใช้เวลาและขั้นตอนยุ่งยาก แถมนำเข้ามาช่วงโควิดมีขั้นตอนกักตัว 14 วัน เงินภาระค่าใช้จ่ายต่อตัวพุ่งกระฉูด

ยิ่งทำให้นายจ้างทั้งหลายไม่มีใครอยากควักกระเป๋าจ่าย

“ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นจากแรงงานเมียนมาที่ลักลอบเข้ามาตอนนี้ ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัวของภาคธุรกิจบางส่วนเอง และไม่ใช่เพียงสมุทรสาคร แต่จังหวัดชายแดนภาคเหนืออย่างเชียงราย ภาคตะวันตก เช่น ตาก รวมถึงภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี สระแก้ว ฯลฯ มีปัญหานี้มาเนิ่นนาน”

จึงควรถึงเวลาที่รัฐบาลนี้จะเร่งสางปัญหา “แรงงานเถื่อน” ให้จบไปจากประเทศไทยแล้วหรือไม่ ขออย่าให้เป็นเพียง “ลมปาก” ที่พูดออกไปเหมือนทุกรัฐบาลที่ผ่านมากว่า 20 ปี แต่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม และแรงงานเถื่อนยังเดินเกลื่อนประเทศไทย !