วันวานจากพี่โต้ง…สู่ภาพจำ ‘งานข่าว’

ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

ต้นฉบับนี้อยากบันทึกไว้เพื่อเป็นความทรงจำครั้งหนึ่ง

การสูญเสียพี่โต้ง ฐากูร บุนปาน ด้วยวัย 59 ปี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564

สำหรับในวงการสื่อมวลชนถือเป็นการสูญเสีย “คนข่าว” ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง สำหรับบ้านมติชนก็เช่นกัน

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน

งานสวดพระอภิธรรมพี่โต้ง ทั้ง 7 วัน ก็เปรียบเสมือน “งานรียูเนียน” ครั้งยิ่งใหญ่ที่มีพลพรรคนักข่าวรุ่นใหญ่รุ่นเล็กมารวมตัวกันอย่างมากมาย

ในวิกฤตทำให้เห็นว่ามิตรภาพ เหมือนดวงดาวในตอนกลางวัน ที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่

เราอาศัยช่วงค่ำคืนหลังงานสวด รียูเนี่ยน เพื่อน พี่ น้อง ที่ต่างกลับมาพบหน้ากัน “คนเก่า” เล่าความหลังการทำงาน การใช้ชีวิตในเส้นทางนักข่าวในบ้านมติชน

ตามฟีดเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยเรื่องราวของพี่โต้ง แม้ว่าไม่ได้รู้จักอย่างใกล้ชิด แต่ซึมซับได้จากการถ่ายทอดเรื่องราวของพี่โต้งจากความทรงจำสู่ตัวหนังสือของพี่ ๆ หลาย ๆ คน

นับเป็นภาพที่ทำให้มี “รอยยิ้มอิ่มสุข”

พี่หนุ่มเมืองจันท์ เขียนคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจว่า พี่โต้งเป็นผู้บริหารหัวเราะได้แม้ในยามวิกฤต ภาพจำพี่โต้งเมื่อครั้งที่เป็นนักข่าวพิมพ์ข่าวเร็วมากแต่ส่งเลตสุด ไม่ยอมเป็นทาสของเดดไลน์ อ่านเรื่องนี้แล้วหัวเราะเลย คือยุคของเราเป็นทาสของเดดไลน์มาก เพราะส่งช้าค่าไฟแพง 5555

พี่โต้งเป็นนักอ่านที่มีสมาธิสูงมาก อ่าน The Economist ในร้านข้าวต้มได้ อ่านหนังสือหลากหลาย ทั้งประวัติศาสตร์ ศาสนา โหราศาสตร์ การเมือง กีฬา และนวนิยาย แถมความจำดี เปรียบกับสมัยนี้นักข่าวต้องมีมัลติสกิลมาก ในยุคของเรา ถือว่าหาได้ยาก หรือถึงหาได้ก็รักษาไว้ยาก จะมีคนเก่งรอบด้านอยากเป็นนักข่าวจริง ๆ สักกี่คน

หรืออย่าง พี่ตุ๋ม สมปรารถนา คล้ายวิเชียร อดีตบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ในสมัยที่เราเป็นนักข่าวครั้งแรกเล่าว่า พี่โต้งเป็นหัวหน้าข่าวการเงินที่ขึงขังจริงจังยามถกประเด็นข่าวในห้องประชุม เป็นพี่ที่คอยเคี่ยวเข็ญให้อ่าน WSJ, Financial Times ด้วยความที่พี่โต้งคือ นักเลงหนังสือ

ส่วนในเรื่องไลฟ์สไตล์พี่โต้งเป็นพี่ที่เฮฮา ขี้เล่น แซวน้อง เป็นหัวโจกสอนวิชาข่าวน้อง ๆ พาน้องตะลุยเที่ยวหลังสวน สีลมพลาซ่า ไปถึงการนั่งรถไฟไปหัวหิน แบบวันเดย์ทริป เพื่อไปกินเบียร์กับปลาหมึกลวก แล้วก็กลับช่วงค่ำ

สุดอีกด้านคือ ทักษะการทำอาหาร เขียนคอลัมน์เขียงมะขาม มีเมนูประจำตัว กากหมูผักพริกแกง ที่ต้องมาสอนให้พี่ร้านอาหารแถวออฟฟิศให้ทำตามสูตรนี้ เพื่อจะได้กิน 5555

พี่เด่น สารถีประจำกอง เล่าว่า งานอดิเรก “ฟุตบอล” พี่โต้งสวมเสื้อหมายเลข 12 ในตำแหน่งศูนย์หน้า นำทีมไปเตะที่สนามฟุตบอลชั้นนำหลายสนาม และไม่เคยถือตัวกับน้องเลย

อ่านแล้วได้แต่ยิ้มตาม ทุกคนต่างมี “ภาพจำพี่โต้ง” ซึ่งจะมีใครสักกี่คนที่สามารถเป็นนักข่าว เป็นพ่อครัว เป็นนักฟุตบอล ที่มีหมู่มิตรมากมายขนาดนี้

นอกจากภาพจำพี่โต้งแล้ว “รียูเนี่ยน” เล่าถึงภาพความหลังยุคการทำงานข่าวมติชน-ประชาชาติธุรกิจ ในสมัยที่เป็นพิมพ์ดีด ฟังแล้วสนุกมาก เด็กรุ่น 4.0 คงนึกไม่ออกถึงความมันส์ในเวลานั้น

ออฟฟิศยังมีโต๊ะ-เก้าอี้ไม่พอ ใครมาสาย อดนั่ง ลุกเสียม้า

นักข่าวที่พิมพ์ดีดไม่เป็น ต้องใช้เวลาเป็นวันในการ “จิ้มดีด” ต้นฉบับ 1 ชิ้น เทียบกับสมัยนี้ เก้าอี้พร้อม แต่โควิดที่ให้เรต้อง worfrom anywhere ทำงานจากที่ไหนก็ได้ขอให้มีข่าวส่ง

ส่วนออฟฟิศกอง บก. มีไว้สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเข้ามาปิดหน้ากระดาษ จัดหน้า เรื่องอุปกรณ์สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง พร้อมเสียยิ่งกว่าพร้อม ออฟฟิศสนับสนุนค่าโทร.ค่าเน็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ขอแค่คุณทำข่าวให้เต็มที่ (จนบางทีก็คิดว่า คุยกับแหล่งข่าวพร้อมกันทีละหลายคนได้ทางไลน์ ทางเฟซ แต่ทำไมประเด็นข่าวมันน้อยจัง 5555)

ส่วนตัวเรายังเป็นนักข่าว 3.5 ไม่ถึง 4.0 เรายังชอบเจอหน้าแหล่งข่าว เรายังชอบนัดหมายพูดคุย ทั้งในรอบ (งานแถลง-สัมภาษณ์) และนอกรอบ (หลังแถลง นอกเวลา) เรายังชอบการสื่อสารพูดคุยตาสบตา ชอบการเดินสีบข่าว (เอ็กซ์คลูซีฟ) ตามห้องแหล่งข่าว แอบดูเอกสารหน้าโต๊ะ ตารางนัด เอกสารที่ไหลมาทางแฟกซ์ แอบดูถังขยะ 5555

บอกไม่ถูกว่าสนุกขนาดไหน แต่คือเป็นช่วงที่ชีวิตมีสีสัน สิ่งนั้นทำให้งานข่าวมีเสน่ห์มาก และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทำงานจนลืมเวลาว่าเราอยู่ในงานข่าวมากี่ปี และยอมรับว่าหากมีเวลาอำนวย ก็ยังย่องไปสีบข่าวแบบนั้นอยู่

เราคงต้องใช้เวลาสักพักกับการเป็นนักข่าว 4.0 แม้ว่าจะเริ่มชินบ้างที่ต้องส่งข่าวออนไลน์ตลอดเวลาที่ตื่น ยิงก่อนชนะ ซึ่งช่วยสนองจริตที่ว่ามีข่าวต้องยิงให้หมด แต่ในใจลึก ๆ ก็คิดว่าชีวิตต้องบาลานซ์เวลาส่วนตัว ร่ำไรบ้างรื่นรมย์บ้าง สูดอากาศบริสุทธิ์ ดูดโอโซน สมองปลอดโปร่ง ครีเอตสิ่งใหม่…สายชิวอย่างเราความสุขที่แท้จริง (อัลแบร์ กามู) คนเราควรต้องอยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง พ้นจากความทะเยอทะยาน มีความคิดสร้างสรรค์ และรักใครสักคน