รู้จักหุ้น OR มากกว่าที่เห็น

คอลัมน์สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 การลงทุนในตลาดหุ้นยังคงร้อนแรง

และกระแสตอนนี้ต้องยกให้เรื่องการเปิดขายหุ้นไอพีโอ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เมื่อบริษัทประกาศเปิดให้นักลงทุนจองหุ้นระหว่าง 24 ม.ค.-2 ก.พ. 64 ด้วยราคาเสนอขาย 16-18 บาทต่อหุ้น

นอกจากเพราะความใหญ่ของธุรกิจแล้ว อีกส่วนก็เพราะธุรกิจ OR เป็นที่รู้จักและจับต้องได้ของคนไทยทั้งประเทศ

โดยเฉพาะกลยุทธ์ที่พลิกโฉมสถานีบริการน้ำมัน เป็นศูนย์รวมบริการค้าปลีกที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่กลายเป็นดาวเด่น มีการปูพรมขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 3,000 สาขา

แต่ก่อนจองหุ้นก็ต้องทำความรู้จัก OR กันก่อนว่า อาณาจักรธุรกิจแห่งนี้มีอะไรบ้าง และมีอะไรมากกว่าที่เห็นหรือไม่

ไล่เลียงตั้งแต่ผลประกอบการ สำหรับปี 2563 ยังเป็นตัวเลขคาดการณ์รายได้ที่ 448,192 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 8,154 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเพราะผลกระทบของโควิด-19

ธุรกิจหลักมี 3 กลุ่มคือ 1.ธุรกิจน้ำมัน 2.ธุรกิจ nonoil (ค้าปลีกและบริการอื่น ๆ) และ 3.ธุรกิจต่างประเทศ

ธุรกิจน้ำมันของ OR ไม่ใช่แค่การขายในปั๊ม แต่ยังมีส่วนธุรกิจที่ขายให้ลูกค้าพาณิชย์รายใหญ่อีกกว่า 2 พันราย

และแม้ว่าธุรกิจน้ำมันจะเป็นฐานรายได้หลัก ซึ่งจากตัวเลขรายได้ธุรกิจน้ำมันปี 2563 กว่า 417,730 ล้านบาท

ขณะที่ nonoil สร้างรายได้ราว 19,180 ล้านบาท หรือไม่ถึง 5% รายได้บริษัท แต่มีสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และตัดจำหน่าย (EBITDA) ถึง 25.1%

สะท้อนถึงความสามารถการทำกำไรของธุรกิจ nonoil ที่สูงกว่าธุรกิจน้ำมัน ทั้งแนวโน้มการเติบโตธุรกิจน้ำมันก็ลดลง

ธุรกิจ nonoil จึงเป็นเรือธงขยายฐานรายได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่และอื่น ๆ

แผนการลงทุนของ OR ช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงให้ความสำคัญกับธุรกิจ nonoil และธุรกิจต่างประเทศนอกจากแผนขยายสถานีบริการน้ำมันจาก 1,968 แห่ง เพิ่มเป็น 3,100 แห่ง เพราะนี่คือจุดศูนย์รวมการขายสินค้าและบริการของ OR

แผนขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน จาก 3,168 แห่ง เป็น 5,800 แห่ง ซึ่งเพิ่มมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน เพราะปัจจุบันมีการเปิดให้บริการนอกปั๊ม ซึ่งมีผู้สนใจขอรับสิทธิแฟรนไชส์จำนวนมากแบบที่ต้องเข้าคิวยาวกันเป็นปี

รวมถึงร้าน Texas Chicken ที่ OR ได้สิทธิเป็นผู้ทำตลาด
ในประเทศไทย ก็มีแผนขยายเพิ่มปีละ 20 แห่ง

ส่วนร้านสะดวกซื้อ ตอนนี้ OR มีถึง 2 แบรนด์คือ เซเว่นอีเลฟเว่น และ จิฟฟี่ ซึ่งสัญญาของร้านเซเว่นอีเลฟเว่นใน PTT Station จะหมดสัญญาในอีก 2 ปีข้างหน้า ต้องติดตามดูว่านโยบายธุรกิจร้านสะดวกซื้อของ OR จะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ OR ยังมุ่งหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เช่น ล่าสุดได้ซื้อหุ้น 9.58% ของบริษัทโลจิสติกส์ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” รวมถึงทำสัญญาซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท “พิเบอร์รี่” เพื่อขยายขอบข่ายธุรกิจกาแฟ โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องชงกาแฟ

ทั้งแผนลงทุนสร้างโรงงานเบเกอรี่ โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม ศูนย์กระจายสินค้า ต่อยอดธุรกิจทั้งซัพพลายเชนของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ขณะที่เทรนด์การใช้รถอีวีที่กำลังมา OR ก็เตรียมพร้อมตามพฤติกรรมผู้บริโภค โดยได้ชิมลางเปิดให้บริการจุดชาร์จไฟฟ้ากับรถอีวีที่ PTT Station 25 แห่ง และมีแผนเพิ่มจุดบริการให้ครอบคลุมตลอดเส้นทางหลักของประเทศ

สำหรับ “ธุรกิจต่างประเทศ” ก็เป็นอีกหัวหอกขยายตลาดของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมามีการขยายทั้งธุรกิจน้ำมันและร้านคาเฟ่ อเมซอน ไปเกือบ 10 ประเทศ และ 5 ปีจากนี้จะเน้นขยายลงทุนในอาเซียน ด้วยแผนขยายสถานีบริการน้ำมันอีก 350 แห่ง และร้านคาเฟ่ อเมซอน อีก 310 แห่ง ซึ่งล่าสุดก็ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน ในเวียดนาม

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของ OR น่าจะเป็นการเปิดเกมรบใหม่ของ OR ออกจากสนามรบธุรกิจน้ำมันเต็มตัว