นโยบายการค้า 5 ปีข้างหน้าอียู 3 หลักการ “เปิด-ยั่งยืน-ตรวจติดตาม”

อียู
คอลัมน์ แตกประเด็น
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ได้เผยแพร่เอกสารนโยบายการค้าฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป “Trade Policy Review : An Open, Sustainable and Assertive Trade Policy” ที่จะเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเน้น 3 หลักการสำคัญ คือ

(1) open นโยบายการค้าแบบเปิด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเชื่อโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก เพื่อให้เศรษฐกิจของอียูฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยเร็ว โดยอียูจะเร่งให้สัตยาบันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่สรุปผลแล้วกับเม็กซิโก และกลุ่มเมอร์โคซูร์ (อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย) และเร่งสรุปการเจรจา FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ผลักดันการเปิดตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) เข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ “Access2Markets” เพื่อใช้ประโยชน์จาก FTA ต่าง ๆ ของอียู

ผลักดันการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อนำความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบการค้าพหุภาคีกลับคืนมา โดยให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body : AB) ที่หมดวาระลง เพื่อให้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการค้าดิจิทัล และควบคุมการอุดหนุนที่บิดเบือนการแข่งขันที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน

(2) sustainable การค้าที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) ที่เป็นนโยบายหลักของคณะกรรมาธิการยุโรปชุดปัจจุบัน ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนยุโรปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และการเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด

โดยอียูจะให้ความสำคัญกับ 1.การหารือเรื่องการค้ากับสภาพภูมิอากาศ (climate change) และความยั่งยืนในเวที WTO และผลักดันให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพื้นฐานสำคัญของความตกลงทางการค้าในอนาคต 2.การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพตามอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) การส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อาหารอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน

3.การจัดทำกลไกติดตามและเพิ่มเติมบทลงโทษในข้อบทการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในความตกลงทางการค้าของอียู และ 4.ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่เน้นความรับผิดชอบและยั่งยืนของภาคธุรกิจ รวมถึงการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและแรงงานผ่านกลไกการตรวจสอบ และการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

(3) assertive การติดตามตรวจสอบว่าประเทศคู่ค้าได้ปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงทางการค้ากับอียูหรือไม่ ทั้งด้านการเปิดตลาด สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมทั้งการตอบโต้ต่อการใช้มาตรการการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 อียูได้แต่งตั้ง Chief Trade Enforcement Officer (CTEO) เป็นตำแหน่งใหม่ เพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ รวมทั้งได้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการติดตามบังคับใช้ความตกลง (Trade Enforcement Regulation) เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับประเทศที่ละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามความตกลงได้

นอกจากนี้ อียูยังเตรียมขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล พลังงานและวัตถุดิบ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การออกกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงผลักดันประเด็นใหม่ ๆ เหล่านี้ในการเจรจาจัดทำ FTA ของอียูในอนาคตด้วย

ภาคส่วนของไทยทั้งรัฐและเอกชนจึงควรติดตามพัฒนาการด้านการค้าของอียูอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความสอดคล้องของมาตรการกับหลักการของ WTO ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมือ ทั้งนี้ ปัจจุบันอียูอยู่ระหว่างจัดทำกฎระเบียบเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ที่หลายประเทศจับตาว่าจะเพิ่มภาระต่อภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการดำเนินยุทธศาสตร์ “จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (farm to fork)” ของอียูที่มุ่งเน้นการปรับปรุงห่วงโซ่อาหารให้มีความยั่งยืนตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การบริโภค จนถึงการกำจัดขยะอาหาร

โดยมีแผนที่จะออกกฎหมาย ระเบียบใหม่ ๆ มากำกับสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น การลดการใช้สารเคมี มาตรการฉลากที่แสดงข้อมูลโภชนาการ การเชื่อมโยงมาตรการทางการค้าโดยเหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ซึ่งผู้ประกอบการและเกษตรกรของไทยจะต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อแสวงโอกาสและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากมาตรการเหล่านี้อาจกระทบต่อธุรกิจของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต สร้างภาระค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการแก่ผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้