ช้อปเพื่อชาติต้องเสมอภาคเท่ากันทุกคน

บทบรรณาธิการ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบ กฎกระทรวงการคลังออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ “ยกเว้น” รัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560) หรือที่รู้จักกันดีในนาม มาตรการช้อปช่วยชาติ ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2560 รวม 23 วัน

มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายเท่าที่ได้จ่ายไปในการซื้อสินค้า-บริการ แก่ผู้ขายที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในระหว่างวันดังกล่าว (23 วัน) มาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยการซื้อสินค้า-บริการนั้นจะต้องเป็นสินค้า-บริการเพื่อใช้ภายในประเทศ เท่านั้น และจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 มีหลักฐานการซื้อสินค้าบริการเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ มาขอหักลดหย่อนด้วย

กระทรวงการคลังในฐานะผู้เสนอมาตรการช้อปช่วยชาติ ได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการนี้ว่า เพื่อต้องการให้การบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่แล้วนั้น มีการขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นการ “กระตุ้น” อุปสงค์ในการซื้อสินค้าและบริการในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งจัดเป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง ปลายปี 2559

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง มาตรการช้อปช่วยชาติ กลับสร้างคำถามขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วมาตรการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ แล้ว “ใคร” เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง และประโยชน์นั้นเป็นไปโดย “เสมอภาค” กับประชากรทั้งประเทศหรือไม่ หรือกระจุกตัวอยู่กับหมู่คนบางพวกบางกลุ่มเท่านั้น

อย่าลืมว่า การหักลดหย่อนจากมาตรการนี้จะทำให้ “รายได้” จากภาษีหายไป เป็นรายได้ที่รัฐควรจัดเก็บได้ แต่มาถูกหักเพื่อประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังน่าสงสัยอยู่ว่า จะกระตุ้นได้จริงหรือจากช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 23 วัน แถมยังกลับกลายเป็นการชะลอการบริโภคโดยรวมในช่วงปลายปีลงเสียอีก เพราะรู้ว่าจะมีมาตรการแบบนี้ออกมาทุก ๆ ปี

ส่วนใครจะเป็นผู้ได้ ประโยชน์มากน้อยนั้น ต้องดูที่ว่า ผู้ช็อปเป็นใคร เนื่องจากสินค้า-บริการที่เป็นเป้าหมายส่วนใหญ่จะอยู่ในห้างสรรพสินค้า เป็นห้างที่ชนชั้นกลาง-สูงเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ขณะที่คนจน 11.67 ล้านคนกลับไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะคนจนไม่อยู่ในระบบภาษี

แม้อ้างว่า คนจนมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว แต่เทียบกันไม่ได้กับการหักลดหย่อนที่รัฐให้เฉพาะเจาะจงกับคนชั้นกลางและคน ชั้นสูงเท่านั้น