เปิดประเทศสเต็ป 2 3 4 “ละคร” ฉากหนึ่งของการเมือง

แฟ้มภาพ
ชั้น 5 ประชาชาติ

ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

 

แม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับไวรัสโควิดมาแล้ว 18-19 เดือนเต็ม ๆ และมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนออกเป็นระยะเพื่อปกป้องมวลมนุษยชาติให้สามารถรับมือและอยู่ร่วมกับไวรัสได้ แต่ก็ยังดูเหมือนว่าทั่วโลกยังคงวิ่งตามหลังวิวัฒนาการและการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ของไวรัสร้ายตัวนี้อยู่ดี และยังเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว “โควิด” ก็ยังคงเป็นปัจจัยลบที่ลากยาวต่อระบบเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศไทยต่อไป

ขณะที่รัฐบาลและภาคธุรกิจก็พยายามนำเสนอแนวทางป้องกัน เพื่อให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจสามารถกลับมาเปิดให้บริการกันอีกครั้ง

โดยเฉพาะในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยเป็นเซ็กเตอร์สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ในปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิดถึง 3 ล้านล้านบาท และสร้าง GDP ของประเทศเกือบ 20% จึงมีความพยายามอย่างมากในการผลักดัน “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นับตั้งแต่การดำเนินการเปิดประเทศสเต็ปแรกไปแล้วตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 ภายใต้โมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และสมุย พลัส (สมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า) เมื่อ 15 กรกฎาคม และ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 7+7” (สมุย, กระบี่, พังงา) เมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา

หลายคนมีคำถามว่า การเปิดภูเก็ตและสมุย พลัสในช่วง 2 เดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่

จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตและสมุย รวมถึงจากการมอนิเตอร์ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ต้องบอกว่า ถ้าวัดจากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ถือว่า “สอบตก”

เพราะเป้าหมายการเปิด 3 เดือนแรก (กรกฎาคม-กันยายน 2564) คือมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1-1.2 แสนคน หรือเฉลี่ยประมาณ 3-4 แสนคนต่อเดือน แต่ตัวเลขที่เข้ามาจริงพบว่าเดือนแรก (กรกฎาคม) มีนักท่องเที่ยว14,055 คน และสิงหาคม12,345 คน

เรียกว่ายังไม่ถึง 5% ของเป้าหมาย

แต่หากมองในประเด็นของการเตรียมพร้อมระบบในทุก ๆ ส่วนให้มีความพร้อม 100% เพื่อนำโมเดลไปใช้กับการเปิดจังหวัดอื่น ๆ เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการจำนวนมากก็ยังมองว่าหลาย ๆ อย่างยังไม่ลงตัว เพราะภาครัฐยังใช้มาตรการที่ใช้สำหรับทั้งประเทศไปคุมเข้มพื้นที่ภูเก็ตและสมุย

ประมาณว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแม้จะไม่ต้องกักตัวอยู่ในห้องหรือในโรงแรมตลอด 14 วันเหมือนเดิม แต่ก็ไม่สามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวอะไรได้มากมายนัก นอกจากนอนหรือเดินเล่นที่ชายหาดเท่านั้น ร้านอาหารก็ยังคงปิดให้บริการ 3 ทุ่ม และยังห้ามขายแอลกอฮอล์ ฯลฯ

ที่สำคัญการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพุ่งเกินมาตรฐานเงื่อนไข SOP กระทั่งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทบทวนนโยบายหรือยุติโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปก่อน

และยิ่งแปลกใจหนักมาก เมื่อรัฐบาลโดย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ออกมาร่ายยาวถึงแผนการเดินหน้าเปิดประเทศในสเต็ป 2 จำนวน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, ชลบุรี (บางละมุง, สัตหีบ), ประจวบฯ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) และเชียงใหม่ (อ.เมือง, แม่ริม, ดอยเต่า) ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

และสเต็ป 3 อีก 25 จังหวัดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จากนั้นสเต็ป 4 จะเป็นจังหวัดที่เป็นด่านชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกภาคของประเทศในเดือนมกราคม 2565 ในเวทีที่ประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

พร้อมทั้งเรียกผู้บริหาร ททท.ประชุมเร่งด่วนในวันรุ่งขึ้น และเดินหน้าพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในแผนเปิดประเทศในสเต็ป 2 ไม่ว่าจะเป็นหัวหิน, พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงกรุงเทพฯ

ผู้คลุกคลีในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามในการเดินหน้าเปิดประเทศของกระทรวงการท่องเที่ยวฯครั้งนี้มีความไม่ปกติหลาย ๆ ประเด็น เช่น กระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ไม่ได้รับทราบแผน หรือแม้แต่ประธานบอร์ด ททท.ก็ไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ เป็นต้น

ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งหลายก็ยังไม่ตื่นเต้นนัก เพราะยังไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับที่ชาวต่างชาติจะเชื่อมั่นและกล้าเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

ที่สำคัญยังประเมินข้ามปีไปถึงปี 2565 แล้วว่า แม้รัฐบาลจะเดินหน้าเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว แต่ยังเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยก็ยังคงไม่ถึง 1 ใน 4 ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตโควิดแน่นอน

จึงมองว่าแผนการเดินหน้าเปิดประเทศดังกล่าวนี้จึงน่าจะเป็น “ละคร” ฉากหนึ่งในทางการเมือง โดยใช้แผนการเปิดประเทศเป็นเครื่องมือในการขอโควตา “วัคซีน” และ “สร้างฐานเสียง” มากกว่าคาดหวังเรื่องฟื้นการท่องเที่ยวตามเป้าหมายหลัก…