โอมิครอน-หมูแพง ท้าทายรัฐบาล

บทบรรณาธิการ

ลากยาวตั้งแต่ปลายปีมายันต้นปีนี้ กับการระบาดของ “โอมิครอน” ที่เขย่าเศรษฐกิจไทยซึ่งกำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวให้ทรุดลงไปอีก กระทรวงสาธารณสุขต้องประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากเดิมระดับ 3 ปรับขึ้นเป็นระดับ 4 ทั้งเริ่มออกมาตรการเพิ่มขึ้น จนผู้เกี่ยวข้องกังวลว่าอาจปิดสถานที่เสี่ยงการแพร่เชื้อ รวมถึงชะลอการเดินทาง เช่น กลับมาพิจารณาใช้ work from home, การเดินทางข้ามจังหวัด การเคลื่อนย้ายของคน และการจำกัดการรวมกลุ่ม

ผลกระทบชัดเจนไม่พ้นการท่องเที่ยว ที่โดนพิษโควิดมาหลายระลอก ธุรกิจเกี่ยวข้องต้องล้มหายตายจากไปจำนวนมาก แต่เดิมเมื่อโควิดเริ่มซาไป จนคนไทยกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ รวมถึงท่องเที่ยวกันมากขึ้น จนเอกชนพอลืมตาอ้าปากกันได้

และวาดหวังว่าในปี 2565 จะกระเตื้องขึ้นและกลับมาฟื้นเท่าก่อนการระบาดภายในปี 2566 แต่ที่ไหนได้โอมิครอนกลับมาปั่นป่วนจนต้องปรับการเติบโตเศรษฐกิจกันใหม่หมด

ไม่เพียงเท่านั้น คนไทยต้องกระอักซ้ำกับปัญหา “หมู” ราคาแพง ทะลุไปกว่า 200 บาท/กก. และยังคาดการณ์ว่าอาจเห็นเนื้อหมูหน้าเขียงราคาถึง 300 บาท/กก. พลอยทำให้ร้านอาหาร ทั้งริมถนนหรือในห้างสรรพสินค้า ที่มีเนื้อหมูเป็นวัตถุดิบพาเหรดปรับขึ้นราคา

ซึ่งแน่นอนว่าราคาเมื่อปรับขึ้นไปแล้ว เป็นเรื่องยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อวันที่เนื้อหมูกลับมาราคาปกติ ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะลดราคาตามมาด้วย

ทั้งปัญหาโอมิครอนและเนื้อหมูราคาแพงที่ประดังประเดเข้ามาพร้อม ๆ กัน กระทบกับคนไทยทุกภาคส่วน แม้ภาครัฐจะออกมาตรการต่าง ๆ ทั้งป้องกันหรือพยายามพยุงเศรษฐกิจ แต่ด้วยเงินงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย บวกกับการออกมาตรการแจกเงินแบบรัว ๆ เมื่อปีที่แล้ว เงินกู้ราว 1.5 ล้านล้านบาทแทบไม่เหลือ จนต้องเร่งหาเงินเข้าคลังด้วยวิธีการต่าง ๆ จึงเห็นความพยายามเก็บภาษีขายหุ้น หรือคริปโท

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนยังเริ่มวิตกจริตว่ารัฐบาลจะกลับมาใช้แผนล็อกดาวน์อีกหรือไม่ จึงเห็นหลายภาคส่วนออกมาแตะเบรก เพราะมองว่ามาตรการล็อกดาวน์ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด และไม่คุ้มค่ากับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ส่วนปัญหาราคาหมูแพง เหมือนรัฐบาลจนปัญญาจะแก้ไข แม้จะประกาศห้ามส่งออกหมู แต่หากดูตัวเลขแล้วจะพบว่าการส่งออกมีน้อยจนแทบไม่มีผลอะไร จะบอกว่าเป็นเพียงการแก้เกี้ยวก็ไม่ผิดนัก

ปัญหาโอมิครอนและราคาหมูแพง เป็น 2 โจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรให้เหมาะสม กว่าการล็อกดาวน์ แจกเงิน หรือปล่อยให้ราคาข้าวของแพงเลือนหายไปเอง เช่น กรณีผักชี เพราะที่ผ่านมาคนไทยแทบไม่เคยเห็นการแก้ปัญหาอะไรที่เป็นรูปธรรม นอกจากขายผ้าเอาหน้ารอดเป็นคราว ๆ ไป