แพ็กเกจสนับสนุนอีวี ใครได้…ใครเสีย

ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

เสียงก่นด่าจากค่ายรถดังแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่กระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี

โยกโย้ไม่ยอมนำแพ็กเกจสนับสนุนหรือผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าบรรจุในวาระให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเสียที

ผัดวันประกันพรุ่งมาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2564 นี้เรื่อยมาจนข้ามปี

ถึงวันที่เขียนต้นฉบับ (7 ม.ค. 2565) ก็ยังไม่ลงเอย ทำให้ตลาดปั่นป่วน คนชะลอซื้อรถรอดูความชัดเจน

จำได้ว่า แพ็กเกจสนับสนุนให้คนใช้รถอีวี ท่านรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

เจ้าของฉายา “มหาเฉื่อย 4D” ที่ได้จากนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเคยนั่งยันนอนยันว่าจะ

ประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวไทย

แพ็กเกจนี้เป้าหมายคือ ต้องการผลักดัน ผลักดันให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 10% ของการผลิตรถยนต์ในปี 2568

และขยายไปถึง 30% ภายในปี 2573

สาระสำคัญของแพ็กเกจที่เล็ดลอดออกมาก่อนประกาศใช้ ประกอบด้วยการลดภาษีศุลกากรเป็น 0% สำหรับรถอีวีที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% จากเดิมที่เสียกัน 8% และจ่ายเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทให้ประชาชนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันแรกราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท

ส่วนรถอีวีที่ราคาเกิน 2 ล้าน จะลดภาษีศุลกากรเหลือ 40% ส่วนใหญ่มาจากโซนยุโรป และภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% แต่เงินอุดหนุนไม่ได้

บริษัทรถยนต์ที่จะได้รับจะต้องขอรับและได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ผู้นำเข้าอิสระ (เกรย์มาร์เก็ต) ไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะไม่มีการลงทุนผลิตในประเทศ

ระยะเวลาแพ็กเกจ 2 ปีโดยนำเข้า 1 คันต้องผลิต 1.5 คัน หลังจากนั้นเป็น 1 ต่อ 1 ผิดเงื่อนไขจะถูกเรียกคืนภาษีทั้งหมด

ช่วงที่แพ็กเกจอีวีถูกเตะสกัดไม่สามารถชงเข้า ครม.สักที มีนักวิเคราะห์ด้านยานยนต์หลายรายกระซิบให้ฟังว่า

เรื่องนี้น่าจะมีการวิ่ง “ล็อบบี้” ซึ่งมีทั้งดึงเรื่องให้ช้าหรืออาจเลยเถิดไปถึงการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญบางอย่าง

หลายท่านคงอยากรู้ว่าใคร…คำตอบที่ได้จากนักวิเคราะห์คือ ให้ดูว่าคนไหนเสียประโยชน์

พร้อมสาธยายให้ฟังว่า การผลักดันรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบซัพพลายเชนครั้งใหญ่ รถยนต์ไฟฟ้ามาน่าจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนล้มหายจากไปพอสมควร

เพราะชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าจะน้อยลง หลัก ๆ คือ เครื่องยนต์ ท่อไอเสีย หัวฉีด ถังน้ำมัน ฯลฯ

บางรายอาจจะต้องปรับตัว โดยหันไปผลิตให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ทดแทน หรือพลิกตัวไปสู่ชิ้นส่วนยานยนต์อื่น ๆ เช่น สายไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า ฯลฯ

อีกส่วนคือค่ายรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเครื่องยนต์เป็นของตัวเองน่าจะเสียผลประโยชน์ตรงนี้ไม่น้อย

เพราะฉะนั้นผู้ผลิตเหล่านี้อาจไม่แฮปปี้กับแพ็กเกจอีวี

ผมแย้งว่า ถ้าดูจากการลดภาษีศุลกากรแพ็กเกจอีวี รถญี่ปุ่นน่าจะได้ประโยชน์สูงสุด

เพราะเดิมเสียภาษีอยู่ 20% ลดลงเป็น 0% เหมือนบางประเทศที่มีอาฟต้า

นักวิเคราะห์พยายามชี้ให้เห็นว่า ประโยชน์จากภาษีคงเทียบไม่ได้กับการลงทุนไปก่อนหน้านี้

และไม่ลืมที่จะบอกว่า อย่ามองข้ามบางค่ายที่เคยทำตลาดอีวีอยู่ก่อนหน้านี้ด้วย

เพราะแพ็กเกจอีวีที่กำลังจะคลอด

น่าจะทำให้การแข่งขันในตลาดอีวี…ร้อนฉ่าขึ้นมากโขทีเดียว