เปิดโมเดล 13 จังหวัดรอด “โควิด” “ผู้ว่าฯหมูป่า” ชูโมเดลป้อง “ลำปาง”

นับถึงวันนี้เป็นเวลา 66 วันแล้วที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทวีความรุนแรงหนักขึ้นเรื่อยๆ จากยอดจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 คน

โดยล่าสุด (27 มีนาคม 2563) เมื่อเวลา 10.30 น. กระทรวงสาธารณสุขแจ้งสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ป่วยเพิ่ม 91 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,136 ราย กลับบ้าน 97 ราย เสียชีวิต 5 ราย หากเทียบจากวันแรกที่ประเทศไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด วันที่ 22 มกราคม 2563 เพียง 4 ราย เป็นชาวจีน 3 ราย และชาวไทย 1 ราย
วันนี้การระบาดได้เพิ่มระดับ และขยายวงกว้างไปถึง 63 จังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว เหลืออีกเพียง 13 จังหวัดที่ยังสามารถควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เข้าสู่จังหวัดได้ ได้แก่ พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท มหาสารคาม บึงกาฬ นครพนม ตราด พังงา และสตูล ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งว่า จังหวัดเหล่านี้ดำเนินการอย่างไร ให้รอดพ้นมาได้ถึงวินาทีนี้

“ลำปาง-ลำพูน” ตั้งการ์ดเชิงรุก

โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งได้เคยแสดงฝีมือในการช่วยเหลือเด็ก 13 คนที่ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนออกมาได้อย่างปลอดภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จังหวัดลำปางในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายแพทย์สาธารณสุขทั้งหมดได้ติดตามข่าวในการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ช่วงที่มีข่าวประเทศจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น
เมื่อรู้ถึง key factor ปัจจัยสำคัญประชุมกันว่า จะต้องวางกำลังคนเท่าไหร่ มีห้องรองรับผู้ป่วยเท่าไหร่ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่มีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศคนลำปางที่เดินทางกลับจากต่างประเทศได้รวมกับครอบครัวให้ช่วยกันดูแล และต้องกักตัว 14 วัน จำนวน 1,008 คน ทุกวันต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ไปเช็คอุณหภูมิตรวจสอบ 100% ผ่าน 14 วันไปแล้ว 800 กว่าคน ปัจจุบันเหลือ 200 คน
“หลังจากกรุงเทพฯและปริมณฑลมีมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงหมด เราก็เรียกประชุมทันทีว่าจะใช้มาตรการไหน สรุปต้องให้ทำบัญชีคนเข้าออกจังหวัด หากเป็นไปได้ก็ขอข้อมูลต้นทาง อย่างขึ้นเครื่องบินเข้ามา ชื่ออะไรบ้าง ขึ้นรถ บขส.มีตรวจบัตรหรือไม่ หรือดักทางให้ทุกคนกรอกบัญชีว่าไปไหนมาอย่างไร แล้วตามไปดูที่พักเช่นเดียวกับที่อื่น
แต่เข้มข้นกว่าด้วยวางแผนตามสถานการณ์ต้องคาดเดาก่อน 1-2 ก้าว เช่น อาทิตย์หน้าจะเกิดอะไรขึ้น อีก 3 วันจะเป็นอย่างไร มีการประชุมศูนย์โควิดในจังหวัดเกือบทุกวัน โดยมีรองผู้ว่าราชการ 1 คนรับผิดชอบดูแลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์”
นอกจากนี้ห้ามจัดกิจกรรมที่ให้คนมารวมตัวกัน ส่วนคนเข้าออกจังหวัดลำปางก็เฝ้าระวังกันอยู่อย่างเข้มข้น ในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน มีตาสับปะรดเฝ้าระวังอยู่รู้ทุกจุด รวมถึงรายละเอียดยิบย่อยมากมายที่เป็นมาตรการของจังหวัดซึ่งมีหลายกระบวนการมาก
ขณะที่นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ และได้ออกมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันโควิด-19 ฉบับที่1 ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยมีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง สถานบริการต่างๆ จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำโครงการหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จังหวัดลำพูนเคลื่อนที่ ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชน

“น่าน-พะเยา” ปิดด่านข้ามแดน

น่าน และพะเยา เป็น 2 จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 ที่ยังรอดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยนายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ออกประกาศสั่งปิดสถานที่สุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ประมาณ 910 แห่ง ก่อนที่จะมีการสั่งปิดด่านชายแดน 2 แห่ง1.ด่านผ่อนปรน อำเภอสองแคว 2.ด่านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ กาดข่วงเมืองน่าน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563
แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อการนำเข้า และส่งออกสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว ได้อนุญาตให้รถขนส่งสินค้ามีพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถสัญชาติไทยและลาว รวมไม่เกิน 2 คน/คัน และต้องผ่านการตรวจคัดกรองไวรัสโควิค-19
ด้านนายกมล เชียงวงศ์ ผู้ราชการจังหวัดพะเยา ได้ออกประกาศป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 โดยขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการชุมนุมและรวมตัวกัน และมีคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว พร้อมตั้งด่านตรวจและจุดคัดกรอง รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชนตามหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด

“กำแพงเพชร-พิจิตร-ชัยนาท” จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง

ขณะที่จังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร และชัยนาทที่ยังรอดปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 เช่นกัน โดยทั้ง 3 จังหวัดได้ออกประกาศป้องกันการแพร่ระบาด โดยสั่งปิดสถานบริการต่างๆ ทุกแห่งที่มีความเสี่ยง เป็นการชั่วคราว
และล่าสุดจังหวัดกำแพงเพชรได้สั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติม เช่น อุทยานแห่งชาติคลองลาน น้ำตกคลองลาน
ขณะที่ จังหวัดพิจิตร ล่าสุดได้มีตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลักที่ใช้ข้ามจังหวัด 6 จุด ได้แก่ สี่แยกสากเหล็ก เขาทราย วังงิ้ว บางมูลนาก โพธิ์ไทรงาม และปลวกสูง ซึ่งเป็นด่านถาวรตลอด 24 ชม.เพื่อตรวจคัดกรองผู้เข้ามาในพิจิตร นอกจากนี้ ให้แต่ละอำเภอจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อออกตรวจ และเฝ้าระวังในหมู่บ้าน ตลอดจนการเข้มงวดกรณีผู้ที่ไม่ยอมกักตัวครบ 14 วัน

“ตราด” สกรีนเข้มคนขึ้น “เกาะช้าง”

จังหวัดตราด นับเป็นหนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวในกลุ่มภาคตะวันออก ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยนายบุรินทร์ ไตรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอเกาะช้าง กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่าเกาะช้างตอนนี้มีระบบเฝ้าระวัง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่ง หมู่บ้าน ชุมชน กรรมการหมู่บ้านผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าภาพสำรวจผู้ที่เดินทางเข้ามาในเขตรับผิดชอบและจัดทำรายงานส่งอำเภอก่อน 10.00 น.ทุกวันเพื่อรายงานจังหวัด
ส่วนที่ 2 คือโรงแรม รีสอร์ท สำรวจส่งข้อมูล ประวัติผู้มาพักทุกวัน พร้อมทั้งเช็คอุณหภูมิ ดูอาการส่งข้อมูลแจ้งอำเภอทุกวัน โดยมีจุดประสงค์หลักให้คนบนเกาะช้างปลอดภัย และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมามีความรู้สึกมั่นใจ
ทั้งนี้มาตรการของเกาะช้างได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 โดยเกาะช้างตั้งจุดคัดกรองขาออกที่ท่าเรือเฟอร์รี่ 2 แห่ง ส่วนฝั่งอำเภอแหลมงอบ 3 จุด มีการตรวจวัดอุณหภูมิถ้ามีไข้จะส่งโรงพยาบาล และจะเพิ่มจุดตรวจขาเข้าที่เกาะช้างเพิ่มอีก 2 แห่ง ทั้งนี้ ความเข้มข้นในการตรวจเริ่มขึ้นหลังจากมีข่าวคนขับรถตู้โดยสารเกาะช้าง-สุวรรณภูมิ ชาวจังหวัดจันทบุรีติดเชื้อโควิด-19

“บึงกาฬ-นครพนม-สารคาม” ทำบิ๊กดาต้าสู้โรค

สำหรับนครพนม-บึงกาฬ และมหาสารคาม ถือเป็น 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยทั้ง 3 จังหวัดได้ออกประกาศป้องกัน โดยสั่งปิดสถานที่เสี่ยง ชั่วคราวพร้อมขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ทุกคนและประชาชน ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน และเพื่อลดการนำเชื้อเข้าจังหวัด
กรณีมีผู้เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล ได้จัดตั้งทีมอาสาโควิด-19 จัดทำฐานข้อมูล และสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจัดทำฐานข้อมูลระดับหมู่บ้าน
นอกจากนี้ในส่วนของจังหวัดนครพนมได้กำหนดแนวทางการจัดระบบบริการของโรงพยาบาล ได้มีการจัดเตรียมสถานที่เตรียมหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยโควิด(Cohort Ward) ทั้งหมด 11 โรงพยาบาล รวมทั้งสิ้น 218 เตียง
ขณะที่นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ในการทำงานมีการประสานงานกันทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และลงไปในระดับหมู่บ้านให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการแพร่ระบาดโควิด-19 ผนึกกำลังกันทำงานอย่างหนัก โดยเฉพาะชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านถือว่าสำคัญมาก ทำหน้าที่ตรวจสอบบุคคลที่เข้ามาในหมู่บ้านทุกวันทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่เร่ขายสินค้า ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด โดยเฉพาะผู้ที่มาจากพื้นที่สีแดงต้องกักตัว 14วัน และสถานที่ราชการทุกวันหลังเลิกงานต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด
พร้อมตั้งด่านตรวจดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดตั้งแต่ เวลา 00.01 น.ตั้งแต่ที่ 26 มีนาคม 2563

“พังงา” ใช้ seal & clean คุมต่างชาติ 8 หมื่นคน

พังงา-สตูล นับเป็น 2 จังหวัดกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามันที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ โดยนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้ประชุมเฝ้าติดตามสถานการณ์และออกประกาศตามมาตรการของรัฐแล้ว ได้เปิดศูนย์เฉพาะทางด้านการแพทย์สาธารณสุขเตรียมความพร้อมรับภาวะฉุกเฉิน เพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังที่โรงพยาบาล และจัดจุดคัดกรองโรค
ที่สำคัญได้มีการจัดทีมเฉพาะกิจคัดกรองนักท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนตามท่าเรือและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันพังงามีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติอยู่ในจังหวัดมากถึง 81,877 คน
นอกจากนี้ได้ใช้มาตรการ seal & clean ทุกหมู่บ้าน ให้ อสม.1 คนเฝ้าระวังต่อ 10 หลังคาเรือน ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน หากมีผู้เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาในหมู่บ้านให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจทันที และให้ถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัด
ด้านนายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้ออกประกาศป้องกัน ฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 19 มีนามคม 2563 พร้อมกับประกาศระงับการเดินทาง เข้า-ออก ณ จุดผ่านแดนตลอดแนวชายแดนของจังหวัดสตูลในวันที่ 20 มีนาคม 2563
โดยเฉพาะท่าเรือและจุดผ่านแดนสำคัญที่อ.เมือง ตรงข้ามกับท่าเรือกัวลาเปอร์ลิส รัฐเปอร์ลิส ท่าเรือเจตตีกัว ลังกาวี รัฐเคดาห์ ท่าเรือเลลก อีกวา ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงจุดตรวจคนเข้าเมือง บริเวณท่าจอดเรือใกล้เกาะหลีเป๊ะ รวมถึงการห้ามบุคคลต่างด้าวเข้ามาในประเทศ จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะให้ 13 จังหวัดนี้อยู่รอดปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 คงต้องลุ้นกันนาทีต่อนาที เพราะเกือบทุกจังหวัดล้วนมีผู้เข้าข่ายเสี่ยง มีผู้อยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน และบางจังหวัดมีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยท่องเที่ยวเกือบแสนคน ต้องเฝ้าระวังกันด้วยความเข้มแข็งกันต่อไป…

รายงานล่าสุด วันที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. จังหวัดมหาสารคาม พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ขณะนี้เหลือเพียง 12 จังหวัดเท่านั้นที่ยังอยู่รอดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว