วราวุธ สั่งตามตัวนักท่องเที่ยว จับปลานกแก้ว เขตอุทยาน หากพบเนรเทศทันที

วราวุธ สั่งเจ้าหน้าที่ตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ จับปลานกแก้ว ในพื้นที่เขตอุทยาน หากพบตัวเนรเทศทันที ชี้เป็นปลาที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเล 

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เพจหมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ภาพชายชาวต่างชาติกำลังจับปลา โดยภาพดังกล่าวมาจากคลิปวิดีโอในแอปพลิเคชั่น TikTok ซึ่งถูกระบุว่า ชายคนดังกล่าวกำลังจับปลานกแก้ว ในเขตพื้นที่อุทยาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขอความร่วมมือ รณรงค์หยุดบริโภคปลานกแก้ว ระบุว่า


  

“ถึงแม้ปลานกแก้ว จะไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์คุ้มครอง หรือสัตว์สงวน แต่ปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังแทบทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ที่มีกฎหมายคุ้มครอง ดังนั้นเราจึงอนุมานได้ว่า ปลานกแก้ว ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด มีที่มาที่ผิดกฎหมาย

ปลานกแก้ว กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง เนื่องจากความสวยงามและความนิยมบริโภคของคนบางกลุ่ม ทำให้ถูกคุกคามจากการถูกจับ/ล่า มาตลอด แต่รู้ไหมครับว่า ปลานกแก้ว มีคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศในทะเล หากเราปล่อยให้เขาได้มีชีวิตอยู่ในทะเลต่อไป มากกว่าที่ตาเห็น ปลานกแก้ว 1 ตัว จะกินซากปะการังที่ตายแล้ว และถ่ายออกมาเป็นทรายได้ถึงปีละ 90 กิโลกรัม กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหาดทรายบนชายฝั่งที่เรายืนอยู่

ปลานกแก้ว ยังบริโภคสาหร่าย ที่ขึ้นคลุมแนวปะการังตาย จากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ทำหน้าที่เป็นผู้ทำความสะอาดซากปะการังเก่า เพื่อให้ตัวอ่อนปะการังใหม่ ได้มีพื้นที่ลงเกาะและเติบโตทดแทนปะการังเดิมที่ตายไป

ถ้าไม่มีปลานกแก้ว อัตราการเกิดใหม่ของแนวปะการัง ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลหลาย ๆ ชนิด ก็คงลดน้อยตามลงไปด้วยอย่างแน่นอนครับ

นอกจากนี้ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การล่าหรือจับปลานกแก้วในพื้นที่ที่มีกฎหมายคุ้มครอง เช่น อุทยานแห่งชาติ ยังมีความผิดตามกฎหมายด้วย

อย่างเช่น กรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ได้โพสต์วิดีโอ Tik Tok จับปลานกแก้ว ในเขตอุทยาน ขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าร้องทุกข์แจ้งความ และเร่งติดตามมาดำเนินคดีแล้ว โดยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งติดตามโดยเร็วที่สุด เพื่อที่เขาจะไม่ทำความเสียหายให้กับทรัพยากรของประเทศไทยไปมากกว่านี้ ถ้าจับได้ต้องเนรเทศครับ

การกระทำใด ที่มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ก็ขอให้ชั่งน้ำหนัก พิจารณา และละเว้น ที่จะไม่ทำมันเถอะนะครับ ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ไว้ เพื่อพวกเรา และเพื่อลูกหลานเราในอนาคตครับ”

ด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบคลิปชายหนุ่ม และกัปตันเรือ ยืนถือปลานกแก้ว 3 ตัว ปลาไม่ทราบชนิด 2 ตัว และใช้มีดแทงหัวปลาไหลทะเล 1 ตัว โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ

จากการตรวจสอบพบพื้นที่เกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะพีพีเล เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐานเปรียบเทียบพิกัดที่เกิดเหตุตามคลิปวิดีโอดังกล่าว ซึ่งทราบว่าเรือที่ก่อเหตุชื่อเรือ “เอวาริน” ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังนี้

1. มาตรา 19 (2) ฐานเก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

2. มาตรา 19 (3) ฐานล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

3. มาตรา 19 (7) ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

4. มาตรา 20 ฐานบุคคลซึ่งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

5.มาตรา 40 ผู้ใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น

สำหรับ ปลานกแก้ว (Parrotfish) เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว (เป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว) เนื่องจากปลานกแก้วมีรูปร่าง ลักษณะและสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่นและนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศโดยรวมของทะเลบริเวณนั้นก็จะเสียสมดุลไปอย่างมาก ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า และเมื่อเกิดการฟอกสีเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็จะฟื้นตัวยากหรือตายไปอย่างถาวร