Care the Wild “SET-แอสเซทไวส์” ปลูกป่ากาญจนบุรี

ปลูกป่า

บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้บนพื้นที่ป่า 10 ไร่ ณ ป่าชุมชนบ้านหลังเขา อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ใน โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และกรมป่าไม้ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมดุล ลดปัญหาโลกร้อน และสร้างประโยชน์ให้เป็นแหล่งอาหารแก่ชุมชนในระยะยาว

สำหรับแอสเซทไวส์ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ด้วยแนวคิด “GrowGreen” ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และยั่งยืน โดยแอสเซทไวส์ สนับสนุนโครงการ Care the Wild เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวจำนวน 20 ไร่ ณ ป่าชุมชนบ้านหลังเขา โดยเริ่มปลูกในปีนี้ 10 ไร่ และจะปลูกต่อเนื่องอีก 10 ไร่ ในปีหน้า สอดรับกับแนวคิด และวิถีการดำเนินธุรกิจ องค์กรที่สนใจร่วมปลูกไม้ให้ได้ป่า

 

วุฒิ วิพันธ์พงษ์
วุฒิ วิพันธ์พงษ์

“วุฒิ วิพันธ์พงษ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสแซทไวท์ กล่าวว่า แอสเซทไวส์ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เราตระหนัก และให้ความสำคัญถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการสร้างคุณค่าใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคง และยั่งยืนให้แก่บริษัท

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้ว ตั้งแต่ในธุรกิจของเรา โครงการที่อยู่อาศัยเราเน้นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีการปลูกต้นไม้ แต่ทั้งนั้นยังมองว่าไม่เพียงพอ เราจะต้องดำเนินการมากขึ้น ซึ่งในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

Advertisment

เราได้รู้จักโครงการ Care the Wild ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะทำงานแบบ 3 ประสาน ร่วมกับกรมป่าไม้ และป่าชุมชน โดยหลังจากมีจุดมุ่งหมายเข้าร่วมโครงการ เราจึงเลือกพื้นที่ป่าชุมชน เป็นชุมชนบ้านหลังเขา จ.กาญจนบุรี เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ในภาคกลาง ใกล้กับกรุงเทพฯ

อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ชาวบ้านมีการดูแลป่าอยู่แล้ว มีผู้นำเป็นพระอาจารย์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่าชุมชนที่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำ หรือเป็นศูนย์รวมจิตใจ นับว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งพอสมควร

“การปลูกป่าครั้งนี้ ผมชวนพนักงาน และลูกบ้านมาปลูกด้วย เพื่ออยากจะให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลกใบนี้ เพราะเรามีโลกใบเดียว วันนี้เราพยายามทำให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา ซึ่งการปลูกต้นไม้นี่แหละจะเป็นส่วนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โ

Advertisment

ครงการก็เหมือนเป็นการแจกจ่ายหน้าที่ร่วมกันดูแล เราสนับสนุน ตลาดหลักทรัพย์ฯและกรมป่าไม้เป็นพี่เลี้ยง และชุมชนเป็นผู้ดูแล เรามองว่าคนกรุงเทพฯจะใช้อากาศอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นกำลังใจให้ผู้ดูแลด้วย”

นอกจากโครงการปลูกป่าแล้ว บริษัทยังดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่หลายเรื่อง เริ่มจากในองค์กร และธุรกิจของเรา เรามีการทำเรื่องการคัดแยกขยะในแต่ละโครงการ รวมถึงกำลังทำวิจัยเรื่องขยะเปียก พวกเศษอาหารต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะกำจัด เพราะถ้าเป็นพวกขยะพลาสติกมีคนทำโครงการมากมาย มีการนำไปกำจัดรีไซเคิลถูกวิธี แต่เรื่องขยะเปียกยังมีคนทำน้อย เรากำลังร่วมกับหลายหน่วยงานดำเนินการด้านนี้อยู่

“นงรัก งามวิทย์โรจน์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปลูกป่าของแอสเซทไวส์ไม่ได้ทำในลักษณะของซีเอสอาร์แล้วจบ ทุกครั้งที่ผู้บริหารลงพื้นที่โครงการกับเรา จะเห็นความตั้งใจ การพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหา

“ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเขาคำนึงถึงชุมชน มีความตั้งใจ อันเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ ซึ่งหวังว่าการปลูกป่าจะรอด 100% ทางตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการติดตามผลทุก 6 เดือนของการปลูก ครั้งนี้ปลูก 10 ไร่ ปีหน้าปลูกอีก 10 ไร่ ต่อยอดไปจนถึงการดูแลเรื่องของน้ำที่จะใช้ในการดูแลป่า”

“นันทนา บุญยานันต์” ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้สนับสนุนชุมชนอยู่ร่วมกันกับป่า ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งป่าชุมชน ขณะนี้เรามีป่าชุมชนอยู่ทั่วประเทศกว่า 11,327 แห่ง พื้นที่ประมาณ 6.29 ล้านไร่ ในส่วนของป่าชุมชนบ้านหลังเขา

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ยังไม่ได้รับการจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ชาวบ้านช่วยกันดูแลผืนป่าอยู่แล้ว ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,670 ไร่ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรค เช่น ไฟป่า ป่าเสื่อมโทรม เขาจะช่วยกันลงแรง ลงทรัพย์ ดูแลผืนป่าด้วยตัวเอง จนกระทั่งผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ จนได้รับการก่อตั้งเป็นป่าชุมชนเมื่อปี 2545

ชุมชนแห่งนี้แม้ว่าจะอยู่หลังเขา เป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่ห่างไกลสังคม แต่เรากำลังทำอีกสิ่งหนึ่งคือ ร่วมสนองพระราชดำริในหลวง ร.9 เพราะพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังตรัสว่า อยากเห็นป่าไม้หมู่บ้าน หมายถึงชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาดูแลผืนป่าด้วยตัวเขาเอง ในหลวง ร.9 ทรงอยากเห็นป่าไม้หมู่บ้าน โดยให้ช่วยกันอนุรักษ์บำรุงรักษา แล้วป่าจึงอยู่

วันนี้กระทรวงทรัพยากรฯออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน เป็นกฎหมายเฉพาะของชุมชน และมีบทบัญญัติว่าชาวบ้าน ซึ่งมาจากสมาชิกจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชน มีหน้าที่สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด ทุกคนจะได้รับบัตรประจำตัว ในการแสดงตน ปกป้องผืนป่า และจะปกป้อง 10 ไร่ รวมถึง 2,670 ไร่ ให้เป็นมรดกของลูกหลานต่อไป

“กรมป่าไม้มีป่าชุมชนกว่าหมื่นแห่ง พื้นที่หลายล้านไร่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลให้โจทย์กรมป่าไม้ว่า เราต้องขยายแบบนี้ให้มากขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมกับรัฐในการปกป้องผืนป่า ฟื้นฟูป่าเพื่อรักษามรดกให้คงอยู่กับประเทศ การเข้ามาของภาคเอกชนถือว่าเป็นการให้กำลังใจชุมชน อยากให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันปลูก

เพราะโมเดลการปลูกป่านี้คือโมเดลแห่งความสำเร็จ เพราะภาคธุรกิจเป็นผู้สนับสนุน กรมป่าไม้เป็นองค์กรปลูกป่า ชุมชนดูแลช่วยกันทุกต้น พื้นที่แห่งนี้จึงอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นป่าใหญ่ในอนาคต ช่วยทำหน้าที่ดูดซับก๊าซ ช่วยลดโลกร้อนอีก อนาคตถ้าพื้นที่อุดมสมบูรณ์จะกลายเป็นแหล่งอาหารประชาชน”

“ประทีป เอกฉันท์” ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้กาญจนบุรี กล่าวว่า กาญจนบุรีมีป่าชุมชนอยู่ทั้งหมด 146 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 1.3 ล้านไร่ ครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอของจังหวัด ป่าชุมชนทุกแห่งต่างช่วยกันดูแลผืนป่าด้วยหัวใจ การที่โครงการ Care the Wild เข้ามาก็เหมือนเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้กับชุมชน เพราะผ่านมา การดูแลป่า ประชาชนไม่ได้มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุน ต้องดูแลด้วยตนเอง

“อีกทั้งป่าก็รอดบ้าง ไม่รอดบ้าง จึงไม่เกิดความยั่งยืน แต่หลังจากปลูกป่าร่วมกับภาคเอกชนในวันนี้ ผมหวังว่าชุมชนจะทำได้ดี และมีศักยภาพมากขึ้น เรามีการปลูกพันธุ์พืชที่หลากหลาย ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ป่า ไม้ผล ฯลฯ นอกจากเป็นแหล่งดูดซับก๊าซ ชาวบ้านยังจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ และต่อมาเขาจะรู้สึกหวงแหนป่า เพราะเขาเองเป็นเจ้าของ”

“ธรกร รุ่งเรือง” ประธานกรรมการสมาชิกป่าชุมชนบ้านหลังเขา กล่าวว่า เมื่อก่อนป่าชุมชนบ้านหลังเขามีสภาพเสื่อมโทรมมาก เกิดไฟไหม้ป่าปีละ 3 ครั้งในฤดูแล้ง ทำให้ต้นไม้เสื่อมโทรม แต่ในช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา ผมและชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูตามกำลังที่มี จนวันนี้สภาพผืนป่าดีขึ้น จนได้รับการจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ทั้งยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาช่วยกันดูแล หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ ทีมหมาเฝ้าป่า

“เพราะเราจะดูแลป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากเอกชน มีพี่เลี้ยงจากกรมป่าไม้ ยิ่งทำให้เรามองเห็นว่าเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้พัฒนา วางแผนงานดูแลป่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ว่า ต้นไม้ทุกต้นต้องรอด และอุดมสมบูรณ์”